บทสนทนากับมิตรสหายชาวจอร์เจีย
“เพื่อนรัก ถึงวันนี้คลื่นผู้ลี้ภัยจากยูเครนไหลเข้าสู่โปแลนด์ โรมาเนีย สโลวาเกีย ฯลฯ กันเกินแสน เป็นที่น่ายินดีที่หลายประเทศในยุโรปออกมาประกาศพร้อมจะรับดูแลผู้ลี้ภัยยูเครนที่อพยพหนีการรุกรานของรัสเซีย โปแลนด์ถึงกับตั้งศูนย์รองรับตลอดแนวชายแดน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านอาหารและยาเบื้องต้น แล้วค่อยขนส่งคนเข้าพื้นที่ปลอดภัยต่อไป
เราเคยวิพากษ์วิจารณ์ประเทศในยุโรปที่มีความลังเลใจในการรับผู้ลี้ภัยจากประเทศนอกภูมิภาค แต่อย่างน้อยกับบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว พวกเขายังถือเป็นหน้าที่ทั้งทางการเมืองและจริยธรรมที่จะต้องดูแลผู้คน โดยเฉพาะเด็ก คนชรา ผู้หญิงท้อง หรือคนที่ไม่พร้อมจะจับอาวุธขึ้นสู้เหล่านี้
โลกทุกวันนี้ซับซ้อนและอยู่ยากกว่าสมัยยี่สิบกว่าปีก่อนที่เราเป็นนักเรียนมาก ในขณะนั้นเหมือนเรามีพื้นที่สำหรับประชาธิปไตย เสรีภาพ และสิทธิมนุษยชนกว้างขวางกว่านี้ อาณาจักรเผด็จการก็ดูจะเปราะบางกว่าทุกวันนี้ แต่แล้ว พวกเขาก็เรียนรู้ที่จะต่อต้านต่อสู้กับประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพกันได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก ทั้งในภูมิภาคของผมและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของคุณ
เป็นธรรมดาที่เราชาวจอร์เจียจะยืนอยู่ข้างเดียวกับชาวยูเครน เพราะเราก็เดินทางมาบนเส้นทางเดียวกันหรือเดินคู่กันมาตลอด จอร์เจียกับยูเครนต่างอยู่ในแบล็คลิสต์ของรัสเซีย ด้วยความที่วลาดีเมียร์ ปูตินหวาดกลัวว่าเราจะไปยอมรับอำนาจสหรัฐฯและเข้ากับนาโต้ นี่หมายความว่า ถ้าหากรัสเซียของปูตินเข้ายึดครองยูเครนสำเร็จ ต่อไปก็คือจอร์เจีย และประเด็นก็ไม่ใช่แค่เรื่องเอกราช แต่สิ่งที่จะถูกทำลายก็คือ ประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายเผ่าพันธุ์ของทั้งสองประเทศ ซึ่งต่อไปก็คงจะไม่จำกัดอยู่แค่สองประเทศนี้ด้วย
ภาพการประท้วงสงครามในจอร์เจียที่คุณได้เห็น มันปะทุขึ้นด้วยแรงกระตุ้นสองอย่าง อย่างแรกคือแถลงการณ์อย่าง “เจียมเนื้อเจียมตัว” อันเกินเหตุของรัฐบาลจอร์เจีย กับอีกอย่าง คือวาระครบรอบ 101 ปีของการที่กองทัพบอลเชวิกบุกเข้ายึดสาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจียเมื่อปี 1921 (ระหว่าง15 ก.พ. – 17 มี.ค.)
ชาวจอร์เจียอยู่ในความเครียดมาก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับประชาชนยูเครนทำให้เรานึกถึงตัวเอง ในปี 2008 รัสเซียเคยบุกจอร์เจียมาแล้ว ฉากละครเดียวกันกับยูเครนในตอนนี้ทีเดียว ตอนนั้นพวกเขายึดไปได้สองมณฑล ซึ่งมีพื้นที่เท่ากับหนึ่งในห้าของประเทศเรา
ทุกวันนี้ ฐานทัพรัสเซียตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงเราแค่ 70 กิโลเมตร และจอร์เจียมีทรัพยากรหรือกำลังทางทหารน้อยกว่ายูเครนเสียอีก ยังไม่ต้องไปเทียบกับรัสเซีย ถ้าเขาจะบุกเข้ามาก็ง่ายนิดเดียว ที่สำคัญ ถ้าเกิดอะไรขึ้น ประชาชนจะหนีไปที่ไหน ประเทศเพื่อนบ้านเราต่างเป็นประเทศเล็ก ๆ ดังเช่น ตุรกีและอาร์เมเนีย พวกเขามีปัญหาของตัวเองอยู่พอตัว เราจะได้รับการต้อนรับแบบที่โปแลนด์รับยูเครนหรือ การจะหนีข้ามไปฝั่งยุโรปตะวันตกนั้นมี Black Sea ขวางอยู่
ผมถามตัวเองเหมือนกันว่า ในฐานะที่ทำงานสิทธิมนุษยชนมานาน ผมทำอะไรได้บ้าง น่าเศร้าที่เอาเข้าจริงแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้มากนัก พูดอย่างนี้ผมรู้ตัวว่าตัวเองมองโลกในแง่ร้ายจนเกินไป
แต่มันก็เป็นเรื่องจริง สิ่งที่คนอย่างเรา ประชาชนอย่างเรา ทำได้ ก็คือการพยายามพัฒนาสังคมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของเราเองให้แข็งแกร่งที่สุด และกว้างขวางที่สุดเท่านั้น นอกจากมันจะเป็นเครือข่ายมนุษย์ที่จะดูแลปกป้องกันและกันในยามยากอย่างเช่นการที่ต้องอพยพลี้ภัยแล้ว ท้ายที่สุดก็อย่างที่เราพูดกันนั่นเอง คือ แม้แต่เรื่องของยูเครนหรือพม่า มันก็ยังมีความหวังเล็ก ๆ อยู่ และความหวังนั้นก็อยู่ที่ประชาชนกับพื้นฐานความแข็งแกร่งในหลักประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของพวกเขานั่นเอง
ขอบคุณ สำหรับการสื่อสารกันในยามยาก ขอให้คุณรับรู้ว่า เราทั้งหลายต่างยืนอยู่ด้วยกัน ทั้งจอร์เจีย ไทย พม่า ยูเครน และทุกหนแห่งที่กำลังต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ”
ภาพประกอบ 1. ชายชาวรัสเซียกับการประท้วงสงครามในจอร์เจีย โดย Natalie Antelava, 2. ภาพข่าวจากสำนักข่าว VOX และ 3. มิตรชาวจอร์เจีย