ถ้อยแถลง
เมื่อไทยไม่กล้า “หยุดค้าอาวุธกับกองทัพพม่า” ??
เพื่อนไร้พรมแดน ขอแสดงจุดยืนคัดค้านการที่รัฐบาลไทย “งดออกเสียง” รับรองมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ 18 มิ.ย. ในการห้ามขายอาวุธให้กับประเทศพม่า
ทั้งนี้ จากรายงานข่าวของสื่อมวลชน กระทรวงการต่างประเทศไทยได้แถลงข่าวกล่าวอ้างว่า มติดังกล่าว “ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบกับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน” และเป็นพื้นฐานความคิดของประเทศที่ไม่ได้มีประชาชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันในหลาย ๆ ระดับมาเป็นเวลาช้านาน”
ในทางกลับกัน เรามองว่า มติดังกล่าว เหมาะสมเป็นอย่างยิ่งกับประเทศที่มีพรมแดนติดกับพม่า และมีประชาชนที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิด เนื่องจาก “ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ” จะต้องให้ความสำคัญกับประชาชนคนธรรมดา คนค้าคนขายท้องถิ่น และความเป็นเครือญาติกันในพื้นที่ชายแดน แทนที่จะคำนึงแต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ทหาร และผู้ค้าอาวุธ
การหยุดค้าอาวุธ ซึ่งมิได้เป็นการ “ก้าวก่ายกิจการภายใน” ดังที่รัฐไทยหวั่นเกรงเสมอมา ย่อมเป็นทางออกที่ดีในการแสดงจุดยืนว่า เราไม่ปรารถนาให้มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชน ซึ่งหากรัฐไทยจะกังวลว่ากองทัพพม่าจะไม่พอใจและดำเนินการตอบโต้อีก ก็อาจต้องย้อนไปตอบคำถามกับประชาชนไทยให้ได้ว่า เราจะพอแล้วหรือยังกับการพยายามไม่ให้กองทัพพม่าขุ่นข้องหมองใจใด ๆ จนกระทั่งเพิกเฉยแม้คำร้องบอกของพลเมืองไทยชายแดนที่ว่า เครื่องบินรบพม่าล้ำเข้ามาบินเหนือหมู่บ้านตน และกระสุนปืนใหญ่ตกเข้ามาในหมู่บ้านตน
แน่นอน การกล่าวอ้างว่า “ความรุนแรงและการสู้รบในพม่ามีผลด้านความมั่นคงโดยตรงต่อไทยมากกว่าประเทศอื่น ๆ ที่อยู่ไกลออกไป การกระทำทุกอย่างของไทยจึงต้องรอบคอยอย่างยิ่ง” นั้นย่อมถูกต้อง หากการปฏิบัติการเลือกข้างด้วยการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับขณะที่การทิ้งระเบิดยังดำเนินอยู่ (โดยเฉพาะในวันที่ 29-31มี.ค.) พยายามอำนวยความสะดวกให้กับข้าวสาร 700 กระสอบบ้างนั้น จะเรียกว่าเป็น “ความรอบคอบ” ได้หรือไม่
ที่สำคัญ การที่รัฐไทยกล่าวอ้างว่า “อุปสรรคต่อสันติภาพในพม่า คือการที่ทุกฝ่ายต่างมีความขัดแย้งทางการเมืองอันนําไปสู่ความเจ็บแค้นและไม่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน” และสิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องทําจึง “ไม่ใช่เพียงแค่กล่าวโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดว่าเป็นฝ่ายผิด” นั้น คือคำประกาศชัดเจนว่า รัฐไทยไม่เห็นว่าการที่ทหารพม่ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนนั้นเป็นสิ่งที่ “ผิด” และกระทั่งว่า การปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนรวมถึงเด็กและเยาวชนนั้น “ผิด” หากแต่ปัดให้เรื่องทั้งหมดคือความขัดแย้งหรือการทะเลาะกันของคนสองฝ่าย
ดังนี้ การวางตัว “เป็นกลาง” จึงคือการเข้าข้างกองทัพพม่าซึ่งเป็นผู้ก่อการและกระทำต่อพลเรือนอย่างชัดเจน เมื่อรัฐไทยไม่ออกเสียงใด ๆ ต่อประเด็นการยุติการค้าอาวุธกับกองทัพพม่า จะให้ประชาชนพม่าเข้าใจหรือไม่ว่า กระสุน ลูกปืนใหญ่ และระเบิดรอบต่อไปที่สังหารประชาชน มาจากการอนุญาตโดยนัย ของรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้านของเขา
22 มิ.ย. 2564
ภาพประกอบ โดย ซอ เซอ เน่ ที ท่า จากการประกวดภาพสีน้ำ “เมื่อความรุ้สึกพูดได้” ค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ 2563 โดย มูลนิธิสันต์ ขันแก้ว
Picture by Saw Hser Nay Tee Ta from ‘Give Your Feeling A Voice’ youth painting competition, organized by Sant Kankaew in Mae La refugee camp in 2020.