ซ้ำเดิม ความน่าละอายของการปิดกั้นเส้นทางมนุษยธรรม
รายงานข่าวจากพื้นที่ชายแดนถึงการที่เจ้าหน้าที่หน่วยงาน “ความมั่นคง” ไทย ปิดกั้นเส้นทางส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แก่ผู้ลี้ภัยที่หนีผลกระทบของสงครามทางด้านใต้ของอ.เมียวดี-วาเลย์ จ.ดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง
“รถที่ขนอาหารและผ้าเต็นท์ไม่สามารถผ่านด่านไปได้” เสียงจากคนแม่สอดกล่าว “เจ้าหน้าที่อ้างว่าพวกเขาอยู่ได้เพียงพอแล้ว แต่เรารู้ว่าผู้ลี้ภัยยังมีอาหารและหลังคาคุ้มหัวกันฝนไม่เพียงพอ”
รายงานข่าวกล่าวว่าผู้ลี้ภัย-ผู้พลัดถิ่นจากเลเก้ก่อ วาเลย์ กาเนเล และมอคีที่ริมขอบแดนแม่น้ำเมย มีรวมกันกว่าหมื่นคน (จากทั้งหมดร่วมสี่หมื่นจากกว่า 50 หมู่บ้าน) ขณะที่ด่านกั้นเส้นทางจากแม่โกนเกนถึงบ้านหมื่นฤาชัยมีทั้งหมดถึง 3 ด่าน
“คุณต้องฟังคำกล่าวอ้างสารพัดว่า นี่คือการป้องกันโควิด หรือการเดินเข้าไปหาผู้ลี้ภัยมันอันตรายมาก” นี่คือประโยคที่เราจะได้ยินทุกครั้งเมื่อมีการปิดกั้นการเข้าหาผู้ลี้ภัย
การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นสิทธิพิเศษ “จะมีเฉพาะบางคนเท่านั้น เขาบอก ที่ให้ไปช่วยได้ ไม่อย่างนั้นจะมีการถ่ายรูปออกมาและก่อให้เกิดความวุ่นวาย เขาไม่สามารถอนุญาตให้รถทุกคันขนความช่วยเหลือไปให้ แต่พวกเขาจะเอาความช่วยเหลือไปให้ไหม แม้แต่คราวที่แล้วที่คอกวัว กว่าข้าวกล่องจะวางไว้ให้กว่าเขาจะแจกถึงชาวบ้าน มันก็บูดแล้ว”
แน่นอนว่าผู้ให้สัมภาษณ์กับทุกสำนักข่าวไม่มีใครประสงค์จะออกนาม เพราะดูเหมือนการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแห่งเพื่อนมนุษย์ กลายเป็น “ภัยความมั่นคง” หรือเป็นอาชญากรรมไปอีกครั้งดัง ที่เคยเกิดขึ้น ณ เวลานี้วันนี้เมื่อปีที่แล้ว (2564) ที่แม่สะเรียง-สบเมยกับผู้ลี้ภัยจากจ.มื่อตรอ
การรายงานข่าวของสำนักข่าวอิสระตามแนวชายแดน ก็ต้องระมัดระวังตัวเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน เนื่องจากอาจได้รับการกดดันจากการเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงและทำให้มีผู้ไม่พอใจ
แต่
“คนไทยไม่เคยมีประสบการณ์เช่นนี้ พวกเขาไม่รู้ว่าคนลำบากจากสงครามมันเป็นยังไง” หนึ่งในคอมเมนต์ใต้โพสต์ของสำนักข่าวแห่งหนึ่งว่าไว้
และ
“บอกให้โลกรู้ไปเลยว่ารัฐบาลไทยกำลังทำอะไร ขอให้โลกได้รู้สิ่งนี้!”
2 เมษายน 2565
** ภาพประกอบจากคนละเหตุการณ์ โดย Karen Information Center