“ฉันมองไม่เห็นเส้นพรมแดน” 

“ฉันมองไม่เห็นเส้นพรมแดน” 

| | Share

“ฉันมองไม่เห็นเส้นพรมแดน” 

เพื่อนไร้พรมแดนขอขอบคุณทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันส่งมอบความช่วยเหลืออันจำเป็นในภาวะวิกฤตโควิด-19 ให้แก่ครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ผ่านศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ อ.แม่สอด จ.ตาก 

แม้งานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจะไม่ได้อยู่ในแผนงานปกติของมูลนิธิฯ ซึ่งทำงานสื่อและสร้างศักยภาพชุมชนในด้านสิทธิมนุษยชน การพัฒนา และการสื่อสารเป็นหลัก  เราก็เข้าใจดีว่า สิทธิมนุษยชนจะเป็นจริงได้ด้วยมิเพียงแต่การเคารพและคุ้มครองเท่านั้น หากยังต้องการการ “ตอบสนอง” อีกด้วย และแม้พันธกรณีหลักอาจเป็นของรัฐ ในความเป็นมนุษย์ร่วมโลก เราก็ย่อมถือหน้าที่ผูกพันดังกล่าวนี้อยู่ด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ในภาวะวิกฤตโควิด-19 เราจึงได้ระดมความช่วยเหลือทั้งเงินและสิ่งของเพื่อส่งมอบให้แก่เด็ก ครู และครอบครัวแรงงานข้ามชาติ โดยส่งผ่านทางโรงเรียนดังกล่าว การส่งมอบความช่วยเหลือทั้งหมดนี้คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนบทบาทของโรงเรียน ในการร่วมทุกข์ร่วมสุขและร่วมสู้ไปกับชุมชน  แทนที่จะเป็นเพียงสถาบัน “การศึกษา” ที่แยกส่วนจากบ้าน  

แรงงานข้ามชาติคือส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจและสังคมไทย พวกเขาไม่มีความประสงค์ที่จะพึ่งพาของบริจาคในระยะยาว  เราขอขอบคุณทุกท่านที่มองเห็นในความเป็น “พวกเรา” โดยมิได้แบ่งแยก “พวกเขา”  ในขณะนี้ 

*รายละเอียดสถานการณ์ โรงเรียน ชุมชน ความช่วยเหลือ ผู้สนับสนุนทั้งหมด กรุณาคลิกอ่านได้ที่รูปภาพแต่ละภาพ

สถานการณ์และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของรัฐไทย ส่งผลกระทบต่อคนสัญชาติไทยและทุกคนที่อยู่ในขอบเขตประเทศไทย แรงงานข้ามชาติต่างสูญเสียงานและรายได้เช่นเดียวกับแรงงานไทย อีกทั้งยังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการติดไวรัสเช่นเดียวกับเราทั้งหลายหรืออาจมากกว่า เนื่องด้วยความเป็นอยู่ที่คับแคบแออัด การขาดเครื่องมือดูแลสุขอนามัยพื้นฐาน ขาดข้อมูล และอยู่ในชุมชนที่ขาดระบบสุขาภิบาลที่ดี แต่ละครอบครัวประสบกับภาวะขาดแคลนอาหาร ขาดปัจจัยพื้นฐาน ขาดค่าเช่าบ้าน และขาดเครื่องมือในการป้องกันตนจากไวรัส

ในแม่สอด ครอบครัวแรงงานจากพม่าหลากชาติพันธุ์ประกอบไปด้วยทั้งหญิง ชาย ผู้ใหญ่ เด็ก คนชรา รวมถึงผู้พิการทางกายและสมอง 

คนเหล่านี้ไม่สามารถเดินทางกลับพม่าได้ทันก่อนด่านปิด หรือเลือกที่จะไม่กลับ เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่เคลื่อนย้ายลำบาก ไม่มีทุนค่าเดินทาง ไม่มีบ้านเป็นของตนเองในพม่าอีกต่อไป หรือเข้าใจว่าวิกฤตนี้น่าจะผ่านไปโดยเร็วกว่าที่เป็นอยู่  

เมื่อไม่ได้รับรายได้ตามปกติ หลายบ้านพยายามดิ้นรนด้วยการเก็บขยะขาย เก็บผักบุ้หรือพืชผักอื่นตามหนองน้ำทุ่งหญ้ากิน บ้างหยิบยืม กู้ยืม แบ่งปันกันไปแต่ละวัน

เพื่อนไร้พรมแดนทำงานกับโรงเรียนเด็กข้ามชาติ 5 โรงเรียน ในโครงการที่มุ่งสร้างศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นสถานที่ตระเตรียมเด็ก-เยาวชนให้สามารถปกป้องดูแลทั้งสิทธิของตนเอง เพื่อนฝูง และครอบครัวในวันนี้และต่อไปในอนาคต  

ในช่วงปิดเทอม ครูจำนวนไม่น้อยยังพักอยู่ในแม่สอด อีกทั้งมีเด็กหอพักอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้กลับบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่ไม่มีครอบครัวดูแล อีกส่วนกลับไม่ทันหรือไม่กล้ากลับเนื่องจากเกรงว่าหากปิดด่านยาว จะไม่สามารถกลับมาทันเปิดเทอม เด็กกลุ่มหลังนี้ไม่ได้รับค่าใช้จ่ายส่วนตัวจากพ่อแม่ในพม่าอย่างที่เคย การฝากเงินหรือเสบียงมาให้ทำไม่ได้ในช่วงนี้

ความช่วยเหลือที่ส่งมอบแก่ครอบครัวแรงงานข้ามชาติผ่านโรงเรียนเด็กข้ามชาติ 5 แห่งในแม่สอด

รายการสิ่งของในหน้าถัด ๆ ไปนี้ มาจากการสอบถามความต้องการของครอบครัวแรงงานข้ามชาติ ครูแจ้งว่า นอกเหนือจากอาหารซึ่งถือว่าข้าวสารสำคัญที่สุดแล้ว ผู้หญิงยังระบุถึงเครื่องใช้ในการรักษาความสะอาด เช่น สบู่และผงซักฟอก ซึ่งเราเองก็มองว่า ของใช้ดังกล่าวก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันไวรัสและโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายได้ดีเช่นเดียวกับหน้ากากอนามัย

นอกจากนี้ แม้จะไม่กล้ากล่าวออกมาดัง ๆ เนื่องจากต้องให้ความสำคัญกีลอาหารของครอบครัวก่อน ผ้าอนามัยก็คืออีกหนึ่งความจำเป็นซึ่งถูกกำหนดให้เป็น “สิ่งฟุ่มเฟือยเกินไป” ในยามที่เงินในบ้านขาดมือ 

อย่างไรก็ตาม เราเห็นว่า ในสภาวะที่ชุมชนยังมีปัญหาเรื่องสุขาภิบาล น้ำสะอาด สุขอนามัยพื้นฐาน ขาดแคลนกระทั่งสบู่และผงซักฟอก การหาทางเลือกให้ผู้หญิงแทนการฉีกใช้เศษผ้าซ้อนทับกันแทนผ้าอนามัยและซักเอานั้น ย่อมเป็นความจำเป็นต่อทั้งสุขภาพกายและใจของผู้หญิง

จากเงินและสิ่งของสนับสนุนทั้งหมด เพื่อนไร้พรมแดนได้จัดความช่วยเหลือเป็นรายการรวมทั้งหมด ดังนี้

1. เครื่องใช้เพื่อสุขอนามัยสำหรับครอบครัว ได้แก่ 

– หน้ากากผ้า 630 ชิ้น เป็นไซส์เด็กเล็กประมาณ 200 ชิ้น
– ชุดเครื่องใช้คือ สบู่ 6 ก้อน น้ำยาล้างจาน 400 มล. 1 ถุง ผงซักฟอก 900 กรัม 1 ห่อ จำนวน 436 ชุด 
– ผ้าอนามัยห่อละ 5 ชิ้น จำนวน 108 ห่อ

2. เครื่องใช้เพื่อสุขอนามัยสำหรับโรงเรียน

– หน้ากากอนามัยสำหรับเด็กในหอพักโรงเรียนและครู รวม 100 ชิ้น
– ชุดเครื่องใช้สำหรับหอพักโรงเรียน 3 ชุดสำหรับ 3 หอพัก ได้แก่ น้ำยาล้างจาน 3600 มล. แชมพู 12 ขวด สบู่ 69 ก้อน 
– ชุดหน้ากากผ้ากับเจลล้างมือ 130 ชุด สำหรับครูในขณะที่เริ่มมาเตรียมงานที่โรงเรียนกันแล้ว

3. อาหาร 

– ข้าวสารรวมทั้งหมด 762 กก. 
– น้ำมันพืชขวดลิตร 1 ลิตร จำนวน 147 ขวด

4. ข้่อมูล ได้แก่ เอกสารความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 และวิธีการป้องกันในภาษาพม่าจำนวน 270 แผ่น และแนวทางการแจกสิ่งของอย่างปลอดภัยสำหรับผู้แจกและผู้รับ

โรงเรียนเด็กข้ามชาติ อ. แม่สอดที่เป็นกำลังสำคัญในการกระจายความช่วยเหลือ ได้แก่

1. โรงเรียนพโยคิน (เพียว ขิ่น) เป็นโรงเรียนประถมที่ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2549 มีนักเรียน 110 คน ครู 7 คน ร้อยละ 90 ของนักเรียนมาจากชุมชนอิสลามใกล้โรงเรียน ครูได้ช่วยกระจายความช่วยเหลือให้ครอบครัวนักเรียนและชาวบ้านท้ายชุมชนอิสลามซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ เมื่อมีผู้มาให้ความช่วยเหลือด้านหน้า ก็จะไม่สามารถกระจายถึงด้านท้ายได้ วิธีกระจายคือ ส่งข่าวแจ้งให้ชาวบ้านทะยอยมารับของที่โต๊ะหน้าโรงเรียน พยายามเว้นระยะห่างระหว่างคนแจกและคนรับ และระหว่างคนรับด้วยกันเอง 

ล่าสุดนี้ ครูแจ้งว่า แม้บางสถานประกอบการในแม่สอดจะเปิดให้แรงงานไปทำงานบ้างแล้ว ก็เป็นส่วนน้อย อีกทั้งพวกเขาก็จะยังไม่ได้ค่าแรงจนกว่าอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป ความช่วยเหลือทั้งหมดนี้จึงช่วยได้มากทีเดียว

2. โรงเรียนแหล่เบ ก่อตั้งปีพ.ศ. 2542 โดยครูหญิงชาวมอญซึ่งเป็นครูมาตลอดชีวิตตั้งแต่ยังอยู่ในประเทศพม่า จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กถึงม. 1 ร่วมกับหลักสูตรกศน.ไทย ที่ให้นักเรียนเลือกตามความสมัครใจ แหล่เบมีนักเรียน 210 คนและครู 13 คน จำนวนไม่น้อยเป็นชาวมอญ เมื่อเรียนจบแล้ว เด็ก ๆ อาจไปเรียนต่อที่ช่าทูเหล่หรือในฝั่งพม่า 

ครูใหญ่ร่วมกับครูหญิงที่โรงเรียนได้เดินทางลงชุมชนใกล้เคียง และชุมชนที่มีครอบครัวของนักเรียนอาศัยอยู่ เข้าเยี่ยมเยียนแต่ละบ้านเพื่อกระจายข้าวของ

3. โรงเรียนเลิฟ เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 104 คนกับครู 9 คน สอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงม.1 ในโรงเรียนมีหอพักเล็ก ๆ อยู่ด้วย ครูโรงเรียนเลิฟได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิ All You Need Is Love ซึ่งดูแลงานบริหารของโรงเรียนออกไปกระจายความช่วยเหลือรอบโรงเรียนและในชุมชนสองแคว โดยนำขนมและน้ำหวานที่มีเก็บไว้ออกไปสมทบ นอกจากนี้ ครูยังได้อธิบายให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการป้องกัน และรับฟังปัญหามาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการที่แรงงานต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500-2000 บาทซึ่งปกติรวมค่าน้ำค่าไฟ และมีอยู่กลุ่มหนึ่งจำนวนราว 15 บ้านที่ถูกตัดน้ำแม้จ่ายค่าเช่าแล้ว เพราะเจ้าของที่ดินไทยประสบปัญหาเศรษฐกิจและค้างจ่ายค่าน้ำประปาถึง 3 เดือน “เขาบอกว่าถ้าหากอยากได้น้ำประปา แต่ละบ้านต้องช่วยกันจ่ายเพิ่มอีกบ้านละ 500 บาท”

ล่าสุด เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณ เลิฟจึงกำลังจะปรับเปลี่ยนเป็นศูนย์เด็กเล็ก และส่งให้นักเรียนโตในปัจจุบันไปเรียนต่อที่อื่น

4. ช่าตู่ก้อ เดิมชื่อโรงเรียนเอลพิส ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2542 โดยครูหญิงชาวกะเหรี่ยงเช่นกัน ปัจจุบันมีนักเรียน 240 คน ครู 15 คน นักเรียนจำนวนมากมาจากชุมชนปกาเกอะญอจากพม่า หอพักของโรงเรียนอยู่แยกออกไปจากตัวโรงเรียนเล็กน้อย 

ในภาพ ครูใหญ่ช่าตู่ก้อออกมาจัดการการกระจายของใช้ให้แก่นักเรียนและครอบครัวด้วยตนเอง อีกทั้งยังลงชุมชนเยี่ยมบ้านและส่งมอบของแก่ครอบครัวนักเรียนในชุมชนอีกด้วย

5. “เราเอาผักไปช่วยได้เพราะตอนนี้เด็กนักเรียนที่กลับบ้านไปจำนวนหนึ่ง ยังไม่ได้กลับมาโรงเรียน เราจึงมีอาหารเพียงพอแล้ว” การที่เด็ก ๆได้ออกจากหอพักไปช่วยครูกระจายความช่วยเหลือและข้อมูลกับชุมชน เป็นโอกาสที่สนุกสนานและมีคุณค่าต่อใจอย่างยิ่ง

โรงเรียนช่าทูเหล่ เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ ก่อตั้งในปีพ.ศ. 2542 โดยครูหญิงชาวกะเหรี่ยง สอนตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงมัธยมปลาย ล่าสุดมีนักเรียน 780 คน ครู 52 คน มีหอพักอยู่ติดกับโรงเรียน ครูผู้ปกครองหอพักและเด็กโตในหอพัก ได้สำรวจรายชื่อและจำนวนประชากรร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อให้ของทั่วถึง และนำผักจากสวนที่เป็นอาหารเด็กหอพักกับผ้าอนามัยของหอมาร่วมสมทบกับของที่ได้รับ แจกให้กับครอบครัวรอบโรงเรียนและในชุมชน “สนามฟุตบอล” ซึ่งเคยปรากฏเป็นฉากในหนังสั้นโครงการเกี่ยวก้อยของมูลนิธิฯมาแล้ว 2 เรื่อง ชุมชนนี้แท้จริงแล้วคือลานโล่งใกล้ ๆ ซึ่งเจ้าของที่ดินอนุญาตให้แรงงานมาอาศัยอยู่โดยรอบ เว้นพื้นที่ตรงกลางไว้ให้เล่นฟุตบอลได้นั่นเอง

ผู้ร่วมสนับสนุน

นับจากปลายมี.ค. 2563 เพื่อนไร้พรมแดนได้พยายามระดมความช่วยเหลือตามกำลังเล็ก ๆ ขององค์กร การสนับสนุนที่เราได้รับจากผู้ที่ต้องการส่งมอบมิตรภาพไร้พรมแดน ได้แก่ ข้าวสาร หน้ากากผ้า น้ำยาล้างจาน สบู่ แชมพู เจลล้างมือ เงินสดจำนวนรวม 69,730.50 บาท และแรงงานที่มาช่วยกันจัดแพ็คและขนของอีกหลายคน ทั้งนี้ นอกจากจะนำเงินไปซื้อของใช้และน้ำมันพืชแล้ว เรายังได้สนับสนุนซื้อข้าวสารในคลังของเครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน.) เพิ่มเติมอีกกว่า 600 กก.จากจำนวน 120 กก.แรกที่คกน.มอบให้ เงินจากการขายข้าวจากยุ้งฉางชาวกะเหรี่ยงดังกล่าวนี้ เป็นทุนสะสมของคกน.ในการขนส่งข้าวจากดอยไปช่วยเหลือพื้นที่ที่ลำบากแห่งอื่นต่อไปโดยไม่เลือกสัญชาติและชาติพันธุ์

ผู้ร่วมสนับสนุน

ผู้ให้การสนับสนุนเงินทุนและสิ่งของ
1. คุณมนต์ชัย สาทรสัมฤทธิ์ผล 
2. คุณพัชราวดี-อรุณกร พิค 
3. คุณปอ
4. คุณญาฏิมาร์ คาร์สัน
5. คุณสุพรชัย แต้มคม
6. ร้านกาแฟหลากหลาย
7. คุณสมเกียรติ ใจงาม
8. คุณดวงกมล 
9. คุณพิมพกา โตวิระ 
10. คุณ Yim Yim Chan  
11. คุณ Saki Banyen 
12. คุณ Paweenuch Boot Jeamjai 
13. คุณ Tipwan Wongpan 
14. คุณ Nanthana Boonla-or 
15. ร้านหนังสือหนองควายสนุก
16. Global Fund for Children 
17. คุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต 
18. เครือข่ายชุมชนกะเหรี่ยงภาคเหนือ (คกน)
19. คุณดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล l
20. คุณจารุณีย์-สมชาติ รักษ์สองพลูและครอบครัว 
21. กลุ่มแม่บ้าน บ้านกลาง ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ ลำปาง
22. คุณผกายเมย เกิดสว่าง ศิลารักษ์
23. คุณสร้อยฟ้า
24. คุณ Pimporanee R. 
25. คุณณัฐปคัลภ์ เข็มขาว
26. คุณวีณา-เมธิตา ธูปกระแจะ 
27. คุณหฤทัย ไนท์ 
28. คุณมนตรี บัวคีรี 
29. คุณนฤมล พุ่มสำเภา 
30. คุณอัยกานต์ อัยกานต์ 
31. คุณปิยนุช โคตรสาร 
32. คุณคนึงนุช ลังกากาศ
33. คุณมานพ คีรีภูวดล Manop Keereepuwadol-มานพ คีรีภูวดล
34. คุณชัยณรงค์ มะเดชะ ดร.ชัยณรงค์ มะเดชะ
35. คุณศุภมาศ ศิลารักษ์ Supphamat Jong Silarak
36. คุณอรัญ ข. 
37. คุณกริ่งกาญจน์ เจริญกุล Kring Kring
38. คุณกรกนก วัฒนภูมิ
39. คุณพัชรี โรจนอนันต์ 
40. คุณโรยทราย วงศ์สุบรรณ 
41. คุณปรียา รัตนโยธา
42. คุณธิติมา ทองศรี 
43. คุณดวงกมล
และผู้ไม่ประสงค์จะออกนามอีกจำนวนหนึ่ง

ผู้สนับสนุนในการประชาสัมพันธ์ แปลเอกสารเป็นภาษาพม่า และเป็นกำลังในการจัดซื้อ แพ็ค และขนส่ง

1. เพจมนุษย์กรุงเทพฯ
2. คุณจารุวรรณ อุทาปา
3. คุณสรศักดิ์ เสนาะไพรวัลย์  
4. คุณบุญทอง ศรีสกุลคีรี
5. คุณอนุชา ตาดี Anucha Tadee
6. คุณเส่อมึวา โทวะ 
7. คุณวิไลพร โย่ทู Wilaiporn Yotoo
8. คุณธดาพงษ์ เสนาะพรไพร  
9. คุณเทวชาติ
10. คุณนกเขาทอง พัฒนาไพรวัลย์
11. คุณอรทัย ไหมแก้ว
12. คุณเฉะชะ ขยันกิจมงคล
13. คุณสุพอ เจาะโด
14. คุณศราวุธ สิริพยาบาล
15. Ko Lin Kyaw Myo 
16. ยุ้ย สมพงษ์ สมบูรณ์ Kyaw Yui

Related