จะอยู่กันไปอย่างนี้อีกนานเท่าไร

จะอยู่กันไปอย่างนี้อีกนานเท่าไร

| | Share

จะอยู่กันไปอย่างนี้อีกนานเท่าไร

ชาวบ้านนับพันบนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามอ.อุ้มผาง จ.ตาก กำลังหนีตายจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่า ซึ่งรวมถึงการกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ และการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ MIG-29 แต่ตัวเลขผู้ลี้ภัยในมือทางการไทยนับได้เพียงสองร้อยกว่าคน

แล้วพวกเขาจะหนีไปทางไหน ?

ปฏิบัติการของกองทัพพม่าคราวนี้ เป็นการตอบโต้การรุกของกองทัพกะเหรี่ยงภายใต้ KNU ในจ.ดูปลายา ที่ต้องการผลักดันทัพพม่าออกจากพื้นที่  เป้าหมายสำคัญคือฐานใหญ่ที่เข้ามาตั้งติดกับหมู่บ้านทีกะเปอนับแต่สงครามยุค 1997 ที่ผลักให้คนหลายพันหนีข้ามแดนมาจนก่อเกิดเป็นค่ายผู้ลี้ภัยนุโพ 

นับแต่ปลายเดือนมกราคม ชาวบ้านทีกะเปอหอบข้าวของมาริมขอบแดน ต.หนองหลวง อ.อุ้มผาง ซึ่งไม่ได้มีแม่น้ำกั้นเหมือนตอนเหนือด้านอ.พบพระ แม่สอด แม่สะเรียง  ตัวเลขผู้ลี้ภัยทางการที่รายงานคือ 170 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก 78 คน หรือร้อยละ 46 ของทั้งหมด ที่เหลือเป็นหญิงมากกว่าชาย

และเป็นที่รู้ว่า จำนวนคนหนีภัยจริง ซึ่งคือประชากรทั้งหมดของบ้านทีกะเปอย่อมมีมากกว่านั้นมาก 

ศุกร์ 10 กุมภาพันธ์ เครื่องบินรบทิ้งระเบิดลงในชุมชนบ้านทีกะเปอ โชคดีที่ผู้คนหนีออกมาหมดแล้ว จึงมีแต่บ้านเรือนและโบสถ์คริสต์ที่ถูกทำลาย  ในคืนวันเดียวกัน เครื่องบินกลับมาทิ้งระเบิดลงบนหมู่บ้านปะนวยโพโกลที่อยู่ถัดไปและเป็นพื้นที่ตรงข้ามต.โมโกร อ.อุ้มผาง โดยรายงานของทางการระบุว่า มีผู้ลี้ภัยเข้ามาหลบภัยฝั่งไทย 76 คน

เป็นที่รู้กันจนเกือบจะเป็นปกติ (ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรเป็นปกติ) ว่า ตัวเลขผู้ลี้ภัยของทางการนั้นไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์การพลัดถิ่นฐานที่เกิดขึ้นได้จริง ตัวเลขผู้ลี้ภัยที่คุมไว้ให้ต่ำ คือการคุมภาพวิกฤตให้มืดดำมองไม่เห็น 

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ชาวบ้านปะนวยโพโกล รวมถึงบ้านใกล้เคียงอย่าง มอคี มอโพโกล เคล่อลอแจ กุยเชอโพ และเชอทะที่ถูกทิ้งร้างกันหมด รวมกันย่อมเกินพัน  

แต่ถ้าเลือกได้ ใครเล่าจะอยากหนีเข้ามาอยู่ในความควบคุมของหน่วยความมั่นคงไทย เพราะนั่นหมายถึงการต้องใช้ชีวิตอยู่กับความ “ไม่มั่นคง”​ กล่าวคือ ไม่มีความแน่นอนว่าเมื่อญาติพี่น้องส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้แล้ว พวกเขาจะได้รับหรือไม่และเมื่อไร และเกือบจะแน่นอนว่า พวกเขาจะต้องถูกบอกกล่าวว่า “กลับได้แล้ว” ในขณะที่กลิ่นควันระเบิดยังไม่ทันจาง และใจยังสั่นรัวด้วยความกลัว

หลายคนคิดว่า สู้หนีตายไปหลบซ่อนอยู่ตามป่าตามเขา ยังควบคุมชะตาชีวิตตัวได้มากกว่า

สถานการณ์ชายแดนอุ้มผางมีแนวโน้มจะยืดเยื้อ การต่อสู้กันเพื่อทวงคืนพื้นที่จะยังไม่มีผู้แพ้ชนะในเร็ววัน ล่าสุดกองทัพพม่าได้ขนส่งกำลังพลเข้ามาเสริมทางเฮลิคอปเตอร์แล้ว  

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ชาวบ้านอุ้มผางมีความเต็มใจจะช่วยเหลือเกื้อกูลญาติพี่น้องที่กำลังทุกข์ยาก หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเช่นโรงพยาบาลอุ้มผาง ก็มีสัมพันธ์อันดีกับชุมชนชายแดนฝั่งรัฐกะเหรี่ยงเนื่องด้วยดำเนินโครงการสาธารณสุขคู่ขนานมาช้านาน  ศักยภาพ ความพร้อม ทั้งทางด้านความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์ และ “ใจ” ควรจะได้รับการนำมาใช้ในการ “บริหารจัดการ” การอพยพพลัดถิ่นฐานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

แทนที่จะปล่อยให้เรื่องของผู้ลี้ภัยถูกจำกัดอยู่ในความ “ควบคุม” เบ็ดเสร็จภายใต้มิติ “ความมั่นคง” เหมือนเดิม ๆ 

13 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพประกอบ : ชายแดนอุ้มผาง คนพลัดถิ่น และสะเก็ดระเบิดจากเครื่องบิน MIG-29 โดย ชาวบ้านชายแดน

Related