ความสูญเสียของไทยและภูมิภาค

ความสูญเสียของไทยและภูมิภาค

| | Share

ความสูญเสียของไทยและภูมิภาค

ยุทธการของของกองทัพพม่าที่ไม่แยกแยะระหว่างกองกำลังติดอาวุธกับพลเรือนไร้อาวุธ คือบาดแผลที่สร้างให้กับทั้งภูมิภาค ที่ไทยและพม่าอยู่ร่วมกัน

การสู้รบในประเทศพม่าไม่ใช่การสู้รบระหว่างกองทัพกับกองทัพ แต่เป็นปฏิบัติการที่ไม่แยกแยะระหว่างพลเรือนไร้อาวุธกับคนจับอาวุธ ประชาชนกลายเป็นศัตรูของรัฐ หรืออย่างดีก็เป็น “ความสูญเสียเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จำเป็น” กองทัพพม่าโจมตีหมู่บ้าน ค่ายพักผู้พลัดถิ่นในประเทศ รวมถึงโบสถ์และวัด ซึ่งเป็นสถานที่หลบภัยของชาวบ้านโดยเฉพาะผู้หญิง คนแก่ และเด็ก ดังเช่นตัวอย่างล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน (16/09/22) ที่มีการยิงปืนใหญ่โจมตีวัดม่วยต่อบนชายแดนรัฐฉาน-กะเรนนีตั้งแต่เช้าตรู่ ทำให้ผู้พลัดถิ่นกะเรนนีที่หลบภัยอยู่บาดเจ็บไปกว่าสิบ และเสียชีวิต 4 ไปคน สองในสี่ คือเด็กหญิงวัย 6 กับ 10 ขวบ อีกสองคือชายวัยมากกว่า 50 ปี 

การประหัตประหารที่แผ่ขยายไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบให้เกิดผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เพราะในคำว่า “การพลัดถิ่นฐาน” อันเกิดจากสงครามนั้น มีความหมายถึงผลกระทบทั้งกว้าง และลึกในระยะยาว หนึ่งในผลกระทบที่เราเคยกล่าวถึงไว้ก่อนหน้า คือวิกฤตทางสาธารณสุขและโรคระบาด โดยเฉพาะมาลาเรีย ซึ่งกลับมารุนแรงใหม่บนชายแดนไทย-พม่าในปีนี้

อีกหนึ่งในผลกระทบที่จะส่งผลต่อการพัฒนาและความมั่นคงของทั้งภูมิภาคอย่างรุนแรงในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปล่อยให้ยืดเยื้อต่อไป ก็คือการที่เด็ก ๆ จำนวนมหาศาลกำลังหลุดออกจากระบบการศึกษา แม้จะยังไม่สามารถสำรวจจำนวนได้แน่ชัด ที่แน่ ๆ ก็คือ ในจำนวนเด็กมหาศาลที่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ในขณะนี้ จะมีเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นการถาวร อยู่ไม่น้อย 

ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนี บุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากกำลังทำงานอย่างหนัก ครูพลัดถิ่นเหล่านี้พยายามใช้ทุกโอกาสและสถานที่จัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ที่หนีมาด้วยกัน ส่วนใหญ่แล้วพวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นต่อส่วนตัวหรือการเรียนการสอน เพราะความช่วยเหลือทางทางมนุษยธรรมมักมุ่งเน้นไปที่อาหารอันเป็นความต้องการเร่งด่วนก่อน 

“การศึกษาก็เป็นความต้องการเร่งด่วน” ครูชาวกะเรนนีคนหนึ่งกล่าว “เราจะสูญเสียทั้งหมดถ้าเด็ก ๆ เราไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยนอกจากการหนีเอาตัวรอด เรายินดีที่จะสอนโดยไม่จำเป็นต้องมีเงินเดือน แต่ที่อยากได้มากที่สุดคือสถานที่ปลอดภัย ที่เราจะสอนหนังสือได้โดยที่ไม่ต้องหนีไปเรื่อย ๆ” 

ครูผู้แสดงความคิดเห็นกำลังหมายถึง สถานที่ปลอดภัยบนชายแดนไทย ซึ่งในปัจจุบันเป็นไปไม่ได้เลย เพราะผู้ลี้ภัยที่เข้ามาจะถูกผลักดันกลับเกือบจะทันที จนทำให้เกิด “โรงเรียนพลัดถิ่น” บนริมขอบแดนในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง – กะเรนนี ทว่า การที่ผู้ลี้ภัยที่ไม่ได้รับการต้อนรับจำต้องกระจายตัวตลอดแนวชายแดน ทำให้โรงเรียนเหล่านี้ไม่อาจเป็นที่เข้าถึงของเด็ก ๆ ได้ทั้งหมด นอกจากนี้ เด็กส่วนหนึ่งยังคงกระจัดกระจายหลบซ่อนอยู่ในฝั่งไทย ที่ซึ่งโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติในอำเภอแม่สอดที่มีอยู่มากมายยังเต็มจนล้น จนต้องออกมาตั้งเต็นท์เรียนกันนอกห้อง การเข้าโรงเรียนไทยเป็นไปไม่ได้ในภาวะที่เด็กไม่ได้ภาษาไทย และการเข้าไปเรียนในค่ายผู้ลี้ภัยที่มีอยู่แล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถจัดการหรือทำให้เกิดขึ้นได้โดยง่าย 

การสูญเสียโอกาสทางการศึกษาไม่ใช่เป็นเพียงผลกระทบต่อตัวบุคคลและครอบครัว การสูญเสียโอกาสทางการศึกษาของเด็กจำนวนมหาศาลย่อมส่งผลต่อประเทศพม่า และความสูญเสียของประเทศพม่าก็คือความสูญเสียของไทยและภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

22 กันยายน 2565

ภาพประกอบจาก Khit Thit Media และ Kantarawaddy Times English

Related