ความตายจะต้องไม่เงียบ

ความตายจะต้องไม่เงียบ

| | Share

ความตายจะต้องไม่เงียบ

17 พฤศจิกายน 2565  ขณะที่คณะทหารพม่า (SAC) ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมAPEC ก็มีข่าวการปล่อยตัวนักโทษร่วมหกพันคน ในจำนวนนั้นมีนักโทษการเมืองซึ่งเป็นที่รู้จักดีรวมถึงชาวต่างชาติที่ถูกคุมขังอยู่ด้วย 4 คน 

ทว่าข้อเท็จจริงก็คือ นักโทษการเมืองจำนวนมากที่ถูกปล่อยตัวออกมาเป็นผู้ที่ใกล้จะพ้นโทษอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีผู้ที่ถูกปล่อยตัวจำนวนมากที่ไม่ใช่นักโทษการเมือง ซึ่งมีบางฝ่ายจับตามองว่าอาจเป็นการ “เกณฑ์” กองสนับสนุนให้กับกองทัพหรือไม่ ล่าสุด สมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองแห่งพม่า (AAPP) ระบุว่ายังมีนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่มากกว่า 13,000 คน

ผ่านไปเพียง2 สัปดาห์ อีกข้อเท็จจริงก็ปรากฏ คณะทหารพม่า ใช้ระบบศาล “ปิด” ในเรือนจำ ตัดสินโทษประหารนักศึกษามหาวิทยาลัยดาโก่ง มณฑลย่างกุ้ง อีก 7 คน ทั้งหมดถูกจับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่ามีส่วนร่วมในการลอบสังหารอดีตนายพลซอ โม วิน รายงานข่าวกล่าวว่าพวกเขาจะถูกประหารในวันพรุ่งนี้ (7 ธันวาคม) โดยอาจมีเยาวชนถูกประหารร่วมด้วยอีก 4 คน

ทั้งนี้ มีนักโทษประหารที่ยังถูกคุมขังรอการประหารอในประเทศพม่าอยู่ทั้งหมด 132 คน

6 ธันวาคม องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำโดย สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐฯ จังหวัดเชียงใหม่ โดยจดหมายดังกล่าวยังจะได้รับการส่งผ่านช่องทางต่าง ๆ ไปยังเลขาธิการสหประชาชาติ สถานทูตเมียนมา นายกรัฐมนตรีไทย และอื่น ๆ 

ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ประธานนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า “ผมรับรู้ข่าวการสั่งประหารนักศึกษาในบรรยากาศที่เงียบเชียบแล้วมันรู้สึกเศร้ามาก จดหมายเปิดผนึกนี้ตอนแรกผมคิดแค่จะเขียนขึ้นในฐานะประธานสภานักศึกษาตามลำพัง แต่เมื่อเพื่อนคนอื่นได้รับรู้ ก็เลยกลายเป็นจดหมายของกลุ่มก้อน ซึ่งผมเขียนไปก็อยากร้องไห้ไป เพราะผมไม่รู้ว่ามันจะไปหยุดการฆ่าคนได้ยังไง แต่ที่สำคัญ ผมอยากให้คนรับรู้มากขึ้น” 

ไม่เพียงแต่นักศึกษาของประเทศพม่าจะสูญเสียชีวิตจากการตัดสินโทษประหารผ่านศาล เด็กและเยาวชน ไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกระบบการศึกษา และไม่ว่าจะเป็นชนชาติพม่าหรือกลุ่มชาติพันธุ์ขอบแดน ก็ยังถูกตัดสินโทษประหารโดยผู้ออกคำสั่งทั้งระดับบนและล่างของกองทัพ ที่ปฏิบัติกับพลเรือน เด็ก และเยาวชนดังเช่นศัตรู นักเรียนมัธยมและคนหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งหันเข้าจับอาวุธสู้และเสียชีวิตในสนามรบ อีกส่วนหนึ่งถูกกวาดล้างเพียงเพราะเห็นว่าอยู่ในวัยและบริบทที่อาจเป็นผู้ต่อต้าน อีกส่วนเสียชีวิตขณะหลบหนีสงคราม และอีกมากก็เสียชีวิตแม้ในยามที่กำลังดำเนินชีวิตประจำวันไปตามปกติ บางคนกำลังหุงข้าว กินข้าว เรียนหนังสือ หรือวิ่งเล่น ร่างก็ต้องแหลกเหลวจากกระสุนปืนใหญ่และระเบิดที่เครื่องบินรบพม่าปล่อยตกลงกลางชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล และโบสถ์เสียแล้ว 

“หรือความความตายของประชาชนเมียนมายังยียวนความรู้สึกและสะเทือนสามัญสำนึกของเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งไม่พอ !” คือสำนวนกวีของศิวัญชลี  

ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เขาจำเป็นต้องพูด

6 ธันวาคม 2565

Related