ความคั่งแค้นกับการจำยอม

ความคั่งแค้นกับการจำยอม

| | Share

ความคั่งแค้นกับการจำยอม

เหตุการณ์การลุกฮือของผู้ลี้ภัยเมื่อวานนี้ (14 ธันวาคม 2564) ที่ค่ายแม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ค่ายผู้ลี้ภัยบนชายแดนไทย-พม่าที่ใหญ่ที่สุดด้วยประชากรกว่าสามหมื่นคน ตกเป็นข่าวและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การกระทำของผู้ลี้ภัยว่า “ก้าวร้าว” และ “ไม่สำนึกบุญคุณ” คนไทย 

ผู้ลี้ภัยถูกกักเก็บไว้ในรั้วลวดหนามค่ายมานานมากแล้ว บางคนอยู่มายาวนาน 20-30 ปี หนุ่มสาวจำนวนไม่น้อยเกิดและเติบโตอยู่แต่ในสถานที่ควบคุมแห่งนี้  แน่นอนว่า ทุกชีวิตที่ต้องอยู่อย่างไร้เสรีภาพเพื่อแลกกับความปลอดภัยนั้นล้วนต้องใช้ “ความอดทน” มาโดยตลอด แรงกดดันและความเครียดสูงส่งสัญญาณให้เห็นด้วยสถิติการฆ่าตัวตายที่สูงมิใช่น้อย (จากการศึกษาของ IOM ในปี 2017 มีความพยายามฆ่าตัวตายในแม่หละสูงถึง 66 ราย และกระทำสำเร็จไป 28 รายในช่วงสองปีก่อนหน้า)

ในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา มาตรการป้องกันการระบาดโควิดได้ก่อให้เกิดความคับแค้นเพิ่มเติม  ผู้ลี้ภัยได้แสดงความคับข้องใจจากมาตรการทั้งในด้านการล็อกดาวน์ค่าย ห้ามทั้งผู้คนและสินค้าในการเข้าออก ว่ามิได้เป็นการทำให้พวกเขาปลอดภัย แต่ก่อให้เกิดการหาผลประโยชน์จากผู้ที่เกี่ยวข้องมากมาย 

นอกจากการติดตามข่าวสารและ live ที่เผยแพร่โดยผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยแล้ว เพื่อนไร้พรมแดนยังได้รับข้อมูลโดยตรงจากสมาชิกครอบครัวผู้ลี้ภัยในแม่หละ, จากผู้ลี้ภัยแม่หละที่ร่วมชุมนุม, จากผู้ลี้ภัยแม่หละที่เฝ้าติดตามการชุมนุมโดยหลบอยู่ในบ้านกับลูกเล็ก และจากชาวกะเหรี่ยงไทยในอาศัยอยู่ไม่ห่างกับค่ายผู้ลี้ภัย 

ทั้งหมดล้วนให้ข้อมูลคล้ายคลึงกัน เกี่ยวกับความคับแค้นที่สะสมมานาน แม้ว่าเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงการกระทำของเจ้าหน้าที่ในเบื้องต้น จะคือเหตุการณ์เรื่อง “ตู้เย็น”

“มีผู้ลี้ภัย 2 คนขี่มอเตอร์ไซค์ไปเอาตู้เย็นที่ตลาดเช้าหน้าค่าย แล้วจนท.อส.กระชากเสื้อเขาจนรถล้ม ตู้เย็นแตก บาดเจ็บนิดหน่อย  ซึ่งจนท.บอกว่าที่ทำนั้นเพราะผู้ลี้ภัยไม่ใส่หน้ากากอนามัย จะชดใช้ค่าเสียหายตู้เย็นให้ก็ได้ แต่ก็กลับยึดรถมอเตอร์ไซค์ไป  ซึ่งมันมีคนไปเจรจาขอคืนแต่เขาก็ไม่ให้ ก็เลยมีคนมาสมทบเรื่อย ๆ จนกลายเป็นการชุมนุมทั้งหญิงทั้งชาย”

“ช่วงแรก ๆ ก็ชุมนุมโดยสงบนะ ฉันเห็นว่ามีการด่า ตะโกน เคาะฝาหม้อ เรียกร้องกันตามปกติ แต่จู่ ๆ มันก็ชุลมุน ไม่รู้หรอกว่าใครเริ่มก่อนแต่มันก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เราได้ยินเสียงปืนของจนท. เขาอาจจะยิงขู่ แล้วมันก็มีการขว้างปาก้อนหิน มีการวิ่งหนี มีการเผาบนพื้นถนน คนไปที่นั่นด้วยความโกรธ พวกเขาไม่มีแกนนำ เรื่องความโกรธนี้ใคร ๆ ก็รู้มานานแล้ว ทั้งเรื่องการควบคุมธุรกิจ การที่ต้องจ่ายอะไรต่าง ๆ  ทุกคนในค่ายใครจะไม่รู้ มีคนพยายามพูดกันแต่มันไม่มีอะไรดีขึ้นเลย” 

“การล็อคดาวน์หมายถึงการต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าออก มีเจ้าของธุรกิจหนึ่งชื่อ…. ที่จ่าย….และควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ใครจะซื้อของสั่งของต้องผ่านเขาเท่านั้น เขาจะขึ้นราคาสินค้าของยังไงก็ได้ ถ้าคนจะเอาของเข้าค่ายคนอื่นนั้นทำไม่ได้ ต้องจ่ายนะ อย่างเช่นน้องผมถือหอมแดงเข้าถุงนึง ก็ต้องจ่าย 200 บาท มันเกี่ยวกับการป้องกันโควิดตรงไหน” 

เพื่อนไร้พรมแดนมองว่า การรู้สึกขอบคุณที่ได้มีชีวิตรอด และมาอาศัยหลบภัยสงครามอย่างปลอดภัยในประเทศไทยนั้น เป็นคนละเรื่องการกับการจำยอมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ไม่ชอบธรรม  

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจส่งผลให้มีการสอบสวนผู้ร่วมกระทำผิดในการทำลายทรัพย์สินของราชการ หากเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้มีการสอบสวนจากหน่วยงานที่เป็นกลาง ถึงข้อร้องเรียนจากผู้ลี้ภัย ที่ทั้งได้มีความพยายามเขียนเป็นจดหมาย เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย และชุมนุมเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงแล้วด้วย ว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร  และจะมีการแก้ไขปัญหาอย่างไรหรือไม่

ผู้ลี้ภัยคือมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งอาจกระทำได้ทั้งถูกและผิด แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เสียงของเขาจะต้องได้รับการรับฟังเท่าเทียมกับเสียงของเราทุกคน

15 ธันวาคม 2564

Related