คนริมฝั่ง บทความเสียงชาวบ้าน โดย นอนอ เขียนไว้เมื่อปี 2554
ฉันเป็นคนหนึ่งที่เดินทางขึ้นล่องตลอดทั่วสองฝั่งน้ำสาละวินเสมอ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำมีน้อยคนนักที่รุ่นราวคราวเดียวกันแล้วจะไม่รู้จักฉัน ตั้งแต่จำความได้ พ่อพาฉันเดินทางโยกย้ายไปตามที่ต่าง ๆ กลับไปกลับมาบนริมแม่น้ำสาละวิน จากฝั่งนี้ไปฝั่งนั้น จากตรงนั้นไปตรงนี้ เพราะครอบครัวเราเลี้ยงชีวิตด้วยแม่น้ำสายนี้เท่านั้น
เรามาปักหลักกันอยู่ที่หมู่บ้าน “แม่คาท่า” ในที่สุด ชื่อนี้เป็นชื่อภาษาปกาเกอะญอ มีความหมายว่า “แม่คาตอนบน” แต่เดิมพวกเราอยู่ที่ริมห้วยแม่คาหรือที่คนไทยเรียกว่าแม่กองคาตอนบน จนกระทั่งเมื่อราว 30 กว่าปีก่อนตอนที่ฉันยังเล็ก ทุกครอบครัวก็ได้ย้ายมารวมกันที่สบห้วยแม่คา-สาละวิน เป็นบ้าน “ท่าตาฝั่ง” อ.สบเมย ที่คนไทยรู้จัก หลังจากนั้น ผู้คนอีกส่วนหนึ่งก็ทะยอยอพยพหนีการกดขี่ข่มเหงในฝั่งพม่ามาอยู่กับญาติพี่น้องที่นี่ การอพยพนี้เกิดขึ้นเรื่อย ๆ ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา
ไก่ป่าบินหนีจากพม่ามายังฝั่งไทยด้วยความกลัวศัตรูของมัน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของไทยเห็นก็ห้ามไม่ให้ใครยิง เพราะมันได้กลายเป็นไก่ป่าของประเทศไทยไปแล้ว ไก่ป่าในเขตสงวนของไทยนั้นต้องได้รับความคุ้มครอง แต่พวกเราที่เป็นมนุษย์ล่ะ ? เมื่ออพยพหลบหนีเอาชีวิตรอดมาอยู่ที่นี่ เราจะไม่สามารถกลายเป็นคนของประเทศไทยได้เลยหรือ ?
พวกเราที่นี่ล้วนเป็นชาวปกาเกอะญอ เป็นปกาเกอะญอเหมือน ๆ กันทีเดียว แต่บางคนกลับมีสิทธิตามกฎหมายของประเทศไทยน้อยกว่าบางคน และบางคนก็แทบไม่มีสิทธิอะไรเลย หลายคนที่นี่แม้จะถือว่าประเทศไทยเป็นบ้านมานานเป็น 10-20 ปี ก็ยังไม่ได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองไทย ซ้ำยังไม่ได้เป็นพลเมืองประเทศใด การไม่มีบัตรประชาชนหมายความว่าเราเป็นคนผิดกฎหมาย ไปไหนมาไหนก็ต้องกลัว ถึงอย่างนั้นเราก็อยู่ที่นี่ ทำมาหากินที่นี่กันอย่างสงบตามอัตภาพ คนปกาเกอะญอริมน้ำสาละวินเลี้ยงชีวิตด้วยการหาปลาในแม่น้ำ ถึงหน้าน้ำลดก็ใช้ผืนดินริมหาดเพาะปลูกเล็ก ๆ น้อย ๆ ใครไม่มีที่ดินก็หางานรับจ้างเอา แต่ตอนนี้เรากำลังตกอยู่ในความหวาดหวั่นกังวลกับภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นั่นคือโครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน
โครงการเขื่อนสาละวินเป็นโครงการมหึมา ประกอบไปด้วยเขื่อนมากมายต่อเนื่องกันในฝั่งประเทศพม่าตั้งแต่ตอนเหนือลงมาถึงแถบที่เราอยู่ อันที่จริงฉันเคยได้ยินข่าวโครงการนี้มานานแล้ว แต่ถึงตอนนี้ดูเหมือนมันจะกลายเป็นความจริงอันใกล้แล้ว คนที่มีความรู้มีการศึกษาทั้งในรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าต้องการสร้างเขื่อนเพื่อพม่าจะได้ขายน้ำและธรรมชาติเอาเงินไปซื้ออาวุธมาปราบปรามชนเผ่า ในขณะที่ไทยก็จะได้น้ำมาผลิตไฟฟ้าขยายบ้านเมืองให้ใหญ่โต
พวกเราที่นี่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนสาละวิน ฉันเชื่อว่าธรรมชาติมีผู้สร้าง เราจะไปทำอะไรกับมันตามอำเภอใจได้อย่างไร ฉันเชื่อว่าสายน้ำนั้นเกิดมาเพื่อจะไหลอย่างอิสระ ดังเช่นมนุษย์เราเกิดมาแล้วก็มีสิทธิเสรีภาพ
หมู่บ้านของฉันเคยมีบทเรียนมาแล้ว เมื่อหลายปีก่อนเจ้าหน้าที่ไทยเข้ามาสำรวจ พวกเขาถามว่าเรามีปัญหาเรื่องน้ำสำหรับปลูกไร่ปลูกนาหรือไม่ ชาวบ้านตอบไปว่าบางปีนาก็ไม่มีน้ำ ถ้ามีคูน้ำเข้านาน่าจะดี เจ้าหน้าที่จึงแนะนำว่าถ้าเช่นนั้นก็ต้องมีฝายเก็บน้ำด้วย จากนั้น พวกเขาก็เข้ามาพร้อมกับรถขุดตักเพื่อตัดทางน้ำใหม่และสร้างฝายกั้นน้ำ ชาวบ้านต่างดีใจที่ได้รายได้จากการรับจ้างในงานก่อสร้าง ใจก็ฝันนาเขียวที่มีน้ำหล่อเจิ่งต้นข้าว แต่พอถึงฤดูฝนปีนั้น ปรากฎว่าเมื่อทางน้ำเดิมหายไปกลายเป็นคูน้ำตัดใหม่ผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติ น้ำจากแม่น้ำสาละวินที่เอ่อขึ้นมาก็ทะลักเข้านา พัดพาดินของผืนนาไป นาบางผืนก็หายกลายไปเป็นทางน้ำก็มี
หลังจากนั้น เราก็เผชิญเหตุการณ์แบบนี้อยู่บ่อย ๆ และจึงเริ่มเข้าใจว่า นี่เอง คือบทเรียนของการบีบบังคับสายน้ำและธรรมชาติ
เขื่อนในโครงการสาละวินใกล้ ๆ กับบ้านแม่คาท่า คือเขื่อน ”ดากวิน” ในฝั่งพม่า ถัดลงไปทางใต้ หากเขื่อนนี้เกิดขึ้น น้ำจะเอ่อท่วมส่วนที่เป็นที่ทำกินของเรา และท่วมป่าสาละวินรวมถึงหมู่บ้านปกาเกอะญอมากมายในประเทศพม่า
วันก่อนฉันล่องแม่น้ำไปที่บ้านโขะเกะในฝั่งประเทศพม่า ได้พบกับป้าแก่ ๆ คนหนึ่ง ฉันจำหน้าแกได้ด้วยบังเอิญเคยเห็นรูปถ่ายมาก่อน ภาพนั้นป้ากำลังหักกิ่งไม้มากองกันที่ริมแม่น้ำ รูปนั้นน่ะใช่ป้าใช่ไหม ? ฉันถาม ป้าก็ตอบว่า … ใช่สิ นั่นเป็นตอนที่ข้าไปร่วมต่อต้านการสร้างเขื่อนสาละวิน ข้าไปไหว้ผีสางนางไม้และเทพยดาของลำน้ำให้เขาช่วยปกป้องลำน้ำจากเขื่อน เราไปกันทั้งหมู่บ้านนั่นแหละ ถ้าเขาสร้างเขื่อนกันจริง ๆ เราจะไปอยู่ที่ไหน ข้าอยู่ที่นี่ กินที่นี่ ปลูกพืชปลูกผัก ปลูกต้นยาสูบ กินปลากินกบอยู่ที่นี่ ข้าอยู่ของข้าอย่างนี้ ไม่มีบัตรประชาชนพม่า ไม่มีบัตรประชาชนไทย ไม่ใช่พลเมืองชาติไหนแน่ ๆ นอน ๆ จึงไม่มีใครมาดูแล แล้วถ้ามีเขื่อน ข้าจะทำยังไง…
ฉันนึกไปถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่เพิ่งได้อ่านแล้วก็อดเล่าให้ป้าฟังไม่ได้ เรื่องมีอยู่ว่า กาลครั้งหนึ่งในแม่น้ำสายใหญ่ มีปลาหลากหลายพันธุ์ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็ก วันหนึ่ง ผู้นำปลาเรียกประชุมเพื่อจะบอกว่า เราได้ข่าวว่าจะมีการสร้างเขื่อนที่นี่ ที่อยู่ที่กินของเราจะถูกทำลาย เราจะเดินทางหากินในแม่น้ำสายนี้เหมือนก่อนไม่ได้อีก ท่านทั้งหลายคิดว่าควรจะทำอย่างไรดี ตอนนั้นปลาตัวน้อยต่าง ๆ พากันตอบว่า แม้ตัวเราจะเล็ก เราก็จะรวมตัวกันให้ได้มาก ๆ ไปไหนก็ไปกันเป็นฝูง เช่นนี้คงจะต่อต้านเขื่อนได้ ส่วนปลาใหญ่ได้ยินดังนั้นก็ตอบว่า เราจะพยายามทุกวิถีทางน่ะแหละ เจ้าปลาน้อยเอ๋ย อย่าได้กังวลไปเลย ปลาน้อยทั้งหลายได้ฟังดังนี้ก็เลยอุ่นใจ
แต่พอผ่านไปสองเดือน ผู้นำปลาก็เรียกประชุมเพื่อถามไถ่ว่าที่ได้ไปต่อต้านกันมาเป็นอย่างไร เจ้าปลาใหญ่ก็กลับบอกว่า เออ…ข้าก็ไม่รู้จะทำยังไง มนุษย์เขาจะสร้างเขื่อนจริง ๆ เขาจะเปลี่ยนสายน้ำนี้ แล้วปลาใหญ่ราคาดีอย่างข้าก็คงถูกจับไปทำเป็นปลากระป๋องส่งขายต่างประเทศ ส่วนพวกเจ้าปลาเล็กปลาน้อยก็คงถูกเอาไปหมักเป็นปลาร้าขายกินกันแถว ๆ นี้แน่ ๆ ….
… ป้าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้นะ .. ฉันถามเมื่อเล่าจบ
… เอ้อ…เฮ้อ….ป้าครางออกมา ข้าเองก็กลัวจะต้องกลายเป็นปลาร้าเหมือนกัน ข้าไม่ได้เป็นปลาราคาแพงแน่ ๆ พวกผู้นำของเราต่างมีการศึกษามีเงินมีทอง เขาจะไปอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ปลาเล็กปลาน้อยอย่างข้าน่ะสิ…
ระหว่างนี้ที่ฉันเดินทางขึ้นล่องแม่น้ำสาละวิน ในใจฉันก็ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาว่าฉัน รวมทั้งไก่ป่าและปลาเล็กปลาน้อยอื่น ๆ จะทำอย่างไร ถ้าเขาจะสร้างเขื่อนจริง ๆ รัฐบาลไทยจะดูแลไก่ป่าอย่างเราไหม แล้วไม่ว่าจะประสบชะตากรรมเช่นไร เราชาวบ้านแม่คาท่าก็คงต้องเตรียมรับญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมเผ่าพันธุ์ที่จะถูกขับไล่ด้วยน้ำท่วมและการกวาดล้างของรัฐบาลพม่าที่ต้องการเปิดพื้นที่สร้างเขื่อนมาอยู่ดี สำหรับในประเทศพม่า ชาวบ้านรู้ดีว่าผู้ที่ต้องสูญเสียบ้านและที่ทำกินจะไปทวงถามอะไรจากรัฐบาลไม่ได้ แต่ฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า แล้วในประเทศไทย พวกเราที่อยู่ริมขอบแม่น้ำสาละวินจะทวงถามหรือโต้แย้งใครได้ไหม
ภาพประกอบ แผนที่แสดงจุดก่อสร้างเขื่อนต่าง ๆ บนแม่น้ำสาละวิน | ที่มา: Salween.info
เสียงชาวบ้าน คือกลุ่มนักเขียนอิสระที่เป็นผู้ลี้ภัยและชนเผ่าพื้นเมืองชาวปกาเกอะญอ พวกเขาตั้งใจถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อประเพณี และเรื่องราวอีกมากมายผ่านบทความ บทกวี และภาพถ่าย เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม ปัจจุบันโครงการนี้ได้ปิดตัวลงไปแล้ว
หมายเหตุ เขื่อนสาละวิน เป็นคำเรียกรวมโครงการต่าง ๆ ที่มีแผนจะก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำสาละวิน ซึ่งในประเทศจีนมีการวางแผนสร้างเขื่อนจำนวน 13 แห่ง ในขณะที่แม่น้ำสาละวินตอนล่างช่วงที่ไหลผ่านประเทศพม่าและพรมแดนไทย มีการผลักดันสร้างเขื่อนจำนวน 7 แห่ง โดยแต่ละแห่งก็มีความคืบหน้าแตกต่างกันไป ณ ขณะนี้ ถือว่าโครงการทั้งหมดได้หยุดชะงักไปชั่วคราวเนื่องจากเหตุสู้รบระหว่างกองกำลังรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังติดอาวุธในพื้นที่ รวมทั้งกระแสคัดค้านจากประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเหล่านี้ด้วย อ่านข้อมูลเพิ่มเติม