การถ่ายรูปตนเองและเผยแพร่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง

การถ่ายรูปตนเองและเผยแพร่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง

| | Share

การถ่ายรูปตนเองและเผยแพร่ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์คนหนึ่ง

สื่อมวลชนต่างรายงานตรงกันว่า ผู้ลี้ภัยจากอีตู่ท่าที่ได้รับอนุญาตให้พักหลบภัยอยู่ในประเทศไทย ได้รับคำสั่งจากทหารพรานที่ดูแลว่า “ห้ามถ่ายภาพถ่ายวิดีโอ ห้ามให้เห็นสิ่งเหล่านี้ในโซเชียลมีเดีย มิฉะนั้นจะส่งกลับ”

ตั้งแต่การลี้ภัยเมื่อปลายเดือนมีนาคม-ต้นเมษายน ชาวบ้านก็ได้รับคำขู่ไว้เช่นนี้ และพวกเขาก็ปฏิบัติตาม แม้ว่าในที่สุดก็จะถูกผลักดันกลับอยู่นั่นเอง  หญิงรายหนึ่งกล่าวว่า พวกเธอไม่กล้าแม้แต่จะถ่ายภาพขณะกลับถิ่นฐานแบบที่มีผู้ถ่ายไว้ในกลุ่มที่ถูกผลักดันกลับเมื่อ 29-31 มีนาคม เพราะกลัวว่าจะถูกทำร้าย หรือต่อไปเขาอาจจะไม่ยอมให้เราเข้าประเทศไทยอีก

ผู้ลี้ภัยทราบดีว่า เมื่อมาอยู่ในประเทศไทย ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย หากเป็นที่น่าละอายที่ว่า คำสั่งห้ามถ่ายภาพและห้ามสื่อสารนั้น เป็นการใช้อำนาจสั่งการโดยไม่แน่ใจว่าใช้กฎหมายข้อใดรองรับ หรือมีเหตุผลด้าน “ความมั่นคงปลอดภัยของชาติ” อย่างแท้จริง เพราะปรากฎได้ว่า ทหารพรานเองก็ถ่ายรูปที่ตนให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยมาใช้ประชาสัมพันธ์หน่วยของตนเอง

ณ ขณะนี้ ทุกเส้นทางที่จะเข้าถึงผู้ลี้ภัยถูกปิดกั้นดังเดิม ความหวาดกลัวว่าคนไทยจะรู้เห็นผู้ลี้ภัย จะนำไปสู่การปิดกั้นความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอีกหรือไม่

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่หน่วยงานความมั่นคงไทยจะมองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยสายตา “ปัจจุบัน”  การปิดกั้นหรือบิดเบือนข้อมูลข่าวสารไม่ได้ส่งผลให้ประชาชนมืดบอด การไม่ยอมให้เห็นภาพผู้ลี้ภัยไม่ได้ทำให้เราลืมว่าพวกเขายังอยู่ที่นี่ 

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่หน่วยงานความมั่นคงชายแดนจะเลิกมองประชาชนไทยเป็นศัตรู และมองผู้ลี้ภัยเป็นคนที่ต้อง “ควบคุม” มากกว่าจะ “คุ้มครอง”

29 เมษายน 2564

ภาพประกอบ แม่น้ำสาละวิน ชุมชนคนพลัดถิ่นอีตู่ท่า และประเทศไทย ภาพถ่ายโดย ชาวบ้านสาละวิน

หมายเหตุ

กรุณาแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานการเคารพในเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และระมัดระวัง “ความผิดฐานหมิ่นประมาท” ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา ฯลฯ

Related