เราได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนบ้างไหม ?

เราได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนบ้างไหม ?

| | Share

เราได้เรียนรู้อะไรจากบทเรียนที่ผ่านมาบ้างไหม ?

ขณะที่การรับผู้ลี้ภัยและการให้ความช่วยเหลือโดยตรงจากชุมชนคนท้องถิ่นกับภาคเอกชนกำลังเริ่มจะเข้าที่เข้าทาง สองวันหลังจากการเริ่มต้นอพยพครั้งใหญ่ ชุมชนชายแดนก็แจ้งมาว่าทางการประกาศคำสั่งใหม่ให้ผู้ที่ต้องการส่งมอบความช่วยเหลือทั้งหลาย ต้องไปลงทะเบียนที่อำเภอเพื่อเดินเรื่องขอใบอนุญาตก่อน

คำสั่งที่ออกมาจัดระเบียบอาจเป็นทิศทางที่ดี หากมุ่งเน้นให้การเข้าส่งมอบความช่วยเหลือได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ไม่ซ้ำซ้อน และทั่วถึง แต่ไม่ควรเป็นการพยายามรวบอำนาจไว้จนโกลาหลเช่นที่เคยเป็นมาอย่างเด็ดขาด

ย้อนกลับไปถึงการอพยพลี้ภัยปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 ที่อ.แม่สอด จ.ตาก การส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ผู้ลี้ภัยกว่าสี่พันคนที่อยู่ในความควบคุมของหน่วยงานความมั่นคงเป็นไปอย่างฉุกละหุก มีเสียงร้องเรียนถึงการเข้าไม่ถึงน้ำและอาหาร หรือกระทั่งข้าวกล่องที่ตากแดดจนบูด ทั้งนี้ เนื่องจากทุกกลุ่มประชาชนหรือองค์กรจะต้องนำอาหารและของใช้มามอบให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่จะเป็นผู้ “พิจารณา” และนำกระจายไปยังที่พักพิงต่าง ๆ ด้วยตนเอง

การกระจายความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส รวดเร็ว และทั่วถึงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์ ทักษะการจัดการโดยเคารพการมีส่วนร่วมของผู้ลี้ภัย และกำลังคนในหลายระดับ ทั้งหมดนี้รัฐท้องถิ่นไม่มี หรือมีไม่พร้อม  เจ้าหน้าที่อำเภอที่มีงานประจำต้องมีงานเพิ่มและเป็นงานที่ตนไม่ถนัด เจ้าหน้าที่ทหารไม่ได้รับการฝึกฝนมาเพื่อบริหารความช่วยเหลือ ก็จำเป็นต้องทำกันไปตามมีตามเกิด ขณะที่ยังต้องมาคอยปิดกั้นไม่ให้สังคมรับรู้ จัดการไม่ให้มีรูปภาพหลุดออกไป รวมถึงคอยตอบโต้ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ ฯลฯ จนยุ่งวุ่นวายกันไปหมด

จากบทเรียนที่ผ่านมา น่าจะถึงเวลาที่รัฐจะต้องยอมรับว่า หน่วยงานความมั่นคงไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการ “บริหารจัดการ” งานมนุษยธรรม  และจะเป็นการดีกว่า หากจะ “บริหารจัดการ” ความมั่นคงด้วยการประสานงานและ “ปล่อย” ให้หน่วยงานมนุษยธรรมกับภาคประชาชนที่มีประสบการณ์ ได้ยื่นมือมาช่วยจัดการ ไม่ใช่ทำตามสั่งแต่เพียงอย่างเดียว

ทั้งหมดนี้ จะเป็นการลดภาระผู้ปฏิบัติการแถบชายแดน สร้างความมั่นคงอันยั่งยืนด้วยสัมพันธ์ของมนุษย์ และช่วยให้ผู้ที่ประสบภาวะลำบากยากแค้นที่สุด ได้เข้าถึงความช่วยเหลือที่ชาวไทยและโลกปรารถนาจะมอบให้ 

เราต้องการนโยบายที่มองเห็นภาพระยะยาวอันตอบโจทย์ทั้งสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง มากกว่าเพียงคำสั่ง

7 เมษายน 2566
ภาพประกอบ : ผู้ลี้ภัยริมเมย เม.ย. 2566 โดยชาวบ้านริมเมย

Related