เราต้องการกลไกประสานงานที่จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ดีกว่านี้ เรื่องเล่าจากบทสนทนาเพื่อนข้างบ้าน (3)
วันผู้ลี้ภัยโลก 2565
“การอพยพพลัดถิ่นฐานและการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในประสบการณ์ของผม และหลังรัฐประหาร ก่อนที่จะมีคนอพยพลี้ภัยข้ามแดน ก็มีการจัดประชุมเตรียมพร้อมมากมาย ผมเองได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมเหล่านั้นเหมือนกัน ในที่ประชุมมีทั้งองค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศและหน่วยงานรัฐในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายต่าง ๆ ก็ประเมินสถานการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ใครจะหนีมา และจะรับมืออย่างไรบ้าง ฯลฯ
แต่พอเกิดความตึงเครียด การสู้รบ และมีคนหนีข้ามเข้าในไทยเข้าจริง ๆ สภาพที่เกิดขึ้นก็คือไม่มีอะไรเป็นไปตามแผนเลย ไม่มีการสื่อสาร ไม่มีการประสานงาน องค์กรชุมชน (CBOs) หรือองค์กรภาคประชาสังคม (CSOs) ไม่ได้รับแจ้งเลยว่า พวกเขาจะสามารถเข้าไปให้ความช่วยผู้ลี้ภัยได้ตรงไหน อย่างไร องค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศที่มีมากมายและพร้อมจะช่วยเหลือ ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ ขณะเดียวกันผู้ลี้ภัยก็ขวัญผวา บางคนข้ามมาแล้วพยายามติดต่อหาญาติพี่น้องเพื่อนฝูงให้ช่วย แล้วคนเหล่านั้นก็ส่งความช่วยเหลือใด ๆ ไปไม่ได้ ก็ก่อให้เกิดความตึงเครียดกันไปหมด
ประเด็นที่สอง สถานที่ที่ผู้ลี้ภัยเข้ามาอยู่ซึ่งไม่ได้จัดการตามแผนที่เตรียมไว้ มันไม่ได้ปลอดภัยเพียงพอตามที่คนหนีมาพึงจะคาดหวัง เพราะสงครามคราวนี้ประชิดชายแดนจนมีกระสุนปืนใหญ่มาตกฝั่งไทย เครื่องบินที่ทิ้งระเบิดก็บินอยู่แถวตะเข็บชายแดน ยิ่งในชายแดนบางจุดดังเช่นอุ้มผาง เส้นพรมแดนเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และเป็นไปได้มากที่จะมีกำลังทหารล่วงล้ำเข้ามาได้ ทั้งหมดนี้ทำให้ผู้ลี้ภัยยังตกอยู่ในความหวาดกลัว แม้จะลี้ภัยมาฝั่งไทยแล้วก็ตาม
ประเด็นที่สามซึ่งสำคัญมากก็คือ เราได้รับข้อมูล และได้พบเห็นกับตัวเอง กับสภาพที่ผู้ลี้ภัยถูกถามซ้ำ ๆ ว่า จะกลับหรือยัง พร้อมกลับหรือยัง กลับได้หรือยัง ทั้ง ๆ ที่การสู้รบยังดำเนินอยู่ ไม่ได้เบาบางลงเลย นี่ทำให้ผู้ลี้ภัยตกอยู่ในความเครียด กดดัน และหวาดกลัวมาก เมื่อถึงเวลาที่มีการส่งให้ข้ามแดนกลับ พวกเขาก็กลับไปโดยไม่ได้รับข้อมูลว่า ที่บ้านเป็นอย่างไร จะกลับไปอยู่ตรงไหนได้บ้างจึงจะปลอดภัย และจะทำอย่างไรต่อไปดี
ผมคิดว่า เราต้องการกลไกการประสานงานที่จะสามารถช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้ดีกว่านี้ ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยยังคงหวาดกลัว และรู้สึกกดดันว่าจำเป็นต้องกลับก่อนที่พวกเขาจะแน่ใจในสถานการณ์ ที่สำคัญความช่วยเหลือก็เข้าถึงได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งในบางพื้นที่เราพบว่า การประสานงานในท้องถิ่นกับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน และกำนันนั้นช่วยได้มาก มีคนที่เต็มใจจะช่วยเหลือผู้ลี้ภัยอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย ผมจึงคิดว่า เมื่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการอพยพย้ายถิ่นจะยังดำเนินอยู่ต่อไป และคนจะยังต้องพลัดถิ่นฐานกันอยู่ทุกวัน กลไกการให้ความคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญจำเป็น และรูปแบบการที่ประชาชนท้องถิ่นจะมีส่วนร่วมก็น่าจะเป็นต้นแบบที่ดี”
ซอ เฮโซ
คณะกรรมการผู้ลี้ภัย เครือข่ายสนับสนุนสันติภาพชาวกะเหรี่ยง
ภาพประกอบ ผู้พลัดถิ่นฐานจาก KPSN