เมื่อโควิดไม่เลือกสัญชาติ การละเว้นไม่ตรวจเชิงรุกแรงงานข้ามชาติ จึงไม่ต่างกับการละเว้นการตรวจคนสัญชาติไทย
5 ก.ค. 2564 กรมการจัดหางานส่งบันทึกข้อความไปยังสำนักงานจัดหางานในกทม.และปริมณฑล ให้ยกเลิก “โครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข” ซึ่งคือการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติในกิจการที่มีความเสี่ยง
เหตุผลที่ให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวมี 2 ประการ อย่างแรกคือ รัฐได้ “กำหนดพื้นที่เป้าหมายเฉพาะและบังคับใช้มาตรการควบคุมที่จำเป็น เพื่อมุ่งชะลอและสะกัดกั้นการระบาดของเชื้อโรคอย่างเร่งด่วน” ด้วยการปิดไซท์งานและแคมป์คนงานก่อสร้าง อีกทั้งมีการห้ามเดินทางและเคลื่อนย้าย อยู่แล้ว
อีกประการถัดมา ซึ่งกล่าวถึงในภายหลังคือ เนื่องจากโรงพยาบาลประสบปัญหาบุคลากร เตียงผู้ป่วย และเครื่องช่วยหายใจไม่เพียงพอ
ดังนี้ จึงหมายความว่า วัตถุประสงค์ของโครงการที่ยกเลิกไปนั้น มิได้เป็นการ “ให้ความช่วยเหลือ” แก่แรงงานข้ามชาติดังชื่อของโครงการแต่อย่างใด หากมีเป้าหมายเพียงเพื่อควบคุมโรคโดยสถานเดียว และเมื่อคาดว่ามีมาตรการควบคุมโรคอื่นแล้ว ประกอบกับทั้งทางโรงพยาบาลกำลังประสบปัญหาอย่างหนัก สมควรสงวนทรัพยากรไว้ดูแลคนไทยก่อน จึงยกเลิกโครงการนี้ไปได้
เพื่อนไร้พรมแดนมีความเข้าในสภาวะวิกฤตทางสาธารณสุข ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานเกินกำลัง ขณะที่สถานที่และเครื่องไม้เครื่องมือมีจำกัด อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากเหตุผลด้านสิทธิมนุษยชนของแรงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและมีบทบาทสำคัญในการช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยแล้ว ยังคือข้อเท็จจริงที่ว่า การป้องกันการแพร่ระบาดในสังคมใดจะทำไม่ได้เลย หากทุกคนในสังคมไม่ได้รับการปกป้อง
โควิด 19 จะไม่หยุดการระบาดอยู่แต่เพียงในแคมป์คนงาน เชื้อโรคจะไม่ได้อยู่เพียงในร่างกายของคนที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย และการคิดว่าจะกักเก็บผู้ป่วยไว้รวมกันไม่ให้เชื้อโรคเล็ดรอดออกมา โดยไม่ตรวจเพื่อจะได้ไม่ต้องรักษานั้น เป็นเรื่องที่เกินกว่าเราจะกล้าจินตนาการ
แม้วิกฤตโควิด 19 จะนำมาซึ่งความตึงเครียดและความมืดมนในสังคม เราก็ยังเชื่อว่า มนุษย์จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ หากเราต่อสู้ร่วมกัน ด้วยวิธีการแห่งความเป็นมนุษย์
14 ก.ค. 2564