วันกองทัพพม่า โอกาสในการแสดงออกจุดยืน

วันกองทัพพม่า โอกาสในการแสดงออกจุดยืน

| | Share

วันกองทัพพม่า โอกาสในการแสดงออกจุดยืน

ปี 2564 วันกองทัพพม่า วันที่ 27 มีนาคม ได้รับการบันทึกไว้ว่าเป็น “วันสังหาร” เมื่อกองทัพออกปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนที่ออกมาต่อต้านรัฐประหารจนมีผู้เสียชีวิต 163 คนในวันเดียว อีกทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นของการโจมตีทางอากาศในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ตามแนวชายแดนไทย-พม่า ที่จ.มื่อตรอ 

นับแต่นั้น มีการทิ้งระเบิดจากเครื่องบินรบ การกราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ การระดมยิงปืนใหญ่เข้าชุมชน ก็ตามมาตลอดปี โดยเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยง กะเรนนี กะฉิ่น มณฑลสะกาย 

บนชายแดนไทยพม่า เสียงระเบิดดังครั้งแล้วครั้งเล่านับไม่ถ้วน ชาวบ้านหนีเข้าป่า ข้ามแม่น้ำเมย-สาละวินมาเมืองไทยจนถูกผลักกลับไปแล้วก็กลับมาใหม่อยู่อย่างนั้น

27 มีนาคม 2565  ปีนี้ เวลาราวตีสอง เครื่องบินรบก็มาทิ้งระเบิดลงที่เดปู่โน่ จ.มื่อตรอ ตรงข้ามอ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อีกครั้ง ราวกับจะเฉลิมฉลองดังเช่นปีที่แล้ว

ก่อนหน้า เมื่อวันที่ 25 ยามสาย เครื่องบินรบ (ที่ว่ากันว่าซื้อจากรัสเซีย) ก็ทิ้งระเบิดที่บ้านทีเกอะเปล่อ และ วันที่ 26 (ราวตีหนึ่ง) ที่บ้านอูเกรคี ทั้งคู่อยู่ใน จ.ดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง ด้านใต้ทางตรงข้ามอ.อุ้มผาง จ.ตาก

การโจมตีทางอากาศส่งผลให้บ้านเรือนเสียหาย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากได้หลบหนีออกจากชุมชนไปก่อนหน้าแล้ว นั่นหมายความว่า หมู่บ้านแต่ละแห่งถูกทิ้งร้าง ผู้คนใช้ชีวิตในป่า

การทำให้คนต้องพลัดถิ่นฐานอยู่ในป่า  คือการทำลายเข่นฆ่ากันทางอ้อม เพราะคนพลัดถิ่นในป่า ใช้ชีวิตอย่างอดอยาก เข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมไม่ง่ายและไม่สม่ำเสมอ ขาดแคลนที่หลับที่นอนหรือหลังคากันแดดฝนที่เหมาะสม เด็ก ๆ ไม่ได้เรียนหนังสือหรือได้เรียนไม่เต็มที่ และต้องอยู่อย่างอกสั่นขวัญแขวน

วันกองทัพพม่าเมื่อปีที่แล้ว ไทยเป็นหนึ่งในแปดประเทศที่เข้าร่วมเฉลิมฉลองในพิธีสวนสนาม พร้อมกับ จีน อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ลาว เวียดนาม และรัสเซีย  

ปีนี้ องค์กรประชาชนจากพม่า เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ แสดงจุดยืนไม่สนับสนุนอาชญากรรมสงครามของกองทัพพม่า รวมถึงยุติการค้าอาวุธกับนำ้มันเครื่องบินให้แก่กองทัพ  เพื่อให้สงครามที่พุ่งเป้าไปที่พลเรือนไร้อาวุธเบาบางลงหรือยุติ

เพื่อนของเรากำลังจับตามองรัฐบาลไทย ว่าจะแสดงทีท่าอย่างไรในวันนี้หรือไม่ แน่นอนว่า การเป็นประเทศเพื่อนบ้านทำให้มีข้อจำกัดมากมายในการแสดงออก ต่างไปจากประเทศที่อยู่ห่างไกล 

ทว่า อย่างไรก็ตาม ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การสนับสนุนกองทัพพม่าไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็คือการสนับสนุนอาชญากรรมสงคราม การพลัดถิ่นฐาน และการลี้ภัย 

เราจะแสดงท่าทีหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ราวกับเรื่องทั้งหมดเป็นเพียง “ความขัดแย้งภายใน (เล็ก ๆ น้อย ๆ)” ขณะที่ยังยืนยันแผนเผชิญเหตุผู้ลี้ภัย “รับมาเมื่อจำเป็นจนเลี่ยงไม่ได้ ดูแลให้ปลอดภัยแต่ไม่ให้สบายเกิน และผลักดันกลับให้เร็วที่สุด” ต่อไปได้อย่างไร

ณ วันนี้ ผู้ลี้ภัยจากหมู่บ้านอูเกรคี และผะลู ซึ่งกำลังมีการสู้รบหนักหน่วง มีความจำเป็นต้องข้ามมายังอ.แม่สอดและอุ้มผาง จ.ตาก แล้วก็มีเสียงมาให้เราได้ยินว่า

“จนท.ไทยเขาก็จะให้กลับ แต่เรายังกลับไม่ได้หรอก เครื่องบินกับเฮลิคอปเตอร์ยังบินอยู่ว่อนอย่างนี้ คนที่หนีมามีทั้งคนแก่ เด็ก ผู้หญิง จะให้เราวิ่งไปวิ่งมาข้ามน้ำเหมือนหมูเหมือนหมาได้อย่างไร”

27 มีนาคม 2565

ภาพประกอบ 

Karen Information Center, Karen Human Rights Group, Karen Peace Support Network

Related