ราชินีกับหมีแพดดิงตั้น

ราชินีกับหมีแพดดิงตั้น

| | Share

ราชินีกับหมีแพดดิงตั้น

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เสด็จสวรรคตในบ่ายวันที่ 8 ก.ย. 2565 ตามเวลาอังกฤษ ขณะมีพระชนมพรรษา 96 พรรษา และครองราชย์มาได้ 70 ปี

ก่อนหน้านี้ ด้วยวัยชราและสุขภาพร่างกายที่อ่อนแอลงหลังติดโควิด 19 เมื่อต้นปี ต่อเนื่องกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่เมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์ไปเมื่อเม.ย. 2564  พระราชินีไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะบ่อยครั้งนัก หากเมื่อสามเดือนที่แล้ว สำนักพระราชวังก็เซอร์ไพรซ์ผู้คนด้วยคลิปวิดีโอราชินีกับหมีแพดดิงตั้นที่ใช้เปิดคอนเสิร์ตเฉลิมฉลอง Platinum Jubilee พิธีบรมราชาภิเษก 70 พรรษา เรียกเสียงฮือฮากล่าวขวัญไปทั่ว 

นอกจากการเผยแพร่ภาพลักษณ์ของพระราชินีที่เป็นมิตร อารมณ์ดี มีความเป็นมนุษย์ คลิปราชินีกับหมีแพดดิงตั้นยังบอกเล่าเรื่องราวแทนคำพูด ซึ่งราชินีอังกฤษจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งไม่ให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าผิดหลักการกษัตริย์ ที่จะต้องเป็นกลางและไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

หมีแพดดิงตั้นนั้นเป็นผู้ลี้ภัย เจ้าหมีในชุดเสื้อโค้ตยาวสีน้ำเงิน หมวกสีแดง มาพร้อมกับกระเป๋าเดินทางใบเล็กและแยมมาร์มาเลด กับป้ายห้อยคอที่เขียนว่า “กรุณาช่วยดูแลหมีตัวนี้ด้วย ขอบคุณ”

ไมเคิล บอนด์ ผู้ซึ่งทำให้แพดดิงตั้นเป็นหมีที่เป็นที่รักที่สุดตัวหนึ่งของโลกเคยเปิดเผยไว้ว่า เขาเคยได้รู้จักพบเจอเด็ก ๆ ผู้ลี้ภัยชาวยิวจำนวนหนึ่ง เมื่อพ่อแม่ของเขาเปิดบ้านต้อนรับดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้ ซึ่งมักจะ”นั่งร้องไห้เงียบ ๆ อยู่ริมเตาผิงเพราะไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพ่อแม่ของพวกเขา”  และ “ผมจำได้ว่าเห็นป้ายแบบเดียวกันนี้ห้อยคอของพวกเขาอยู่” 

ในปี 2481 (1938) รัฐบาลอังกฤษยอมเร่งรัดกระบวนการเข้าเมืองเพื่อรับชาวยิวที่ลี้ภัยการประหัตประหารของนาซีเยอรมัน ส่วนเด็กชาวยิวที่พ่อแม่ส่งตัวออกไปยังพื้นที่ปลอดภัยก่อนนั้นต้องอยู่ในความดูแลขององค์กรเอกชนที่จะต้องรับรองว่าจะรับผิดชอบงบประมาณไม่ให้เป็นภาระของรัฐ มีการจัดบ้านอุปถัมภ์ให้โดยคาดว่าเด็ก ๆ เหล่านี้จะกลับไปพบครอบครัวเมื่อสงครามสงบลง ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ครอบครัวของเด็กผู้ลี้ภัยมักเสียชีวิตไปในค่ายกักกัน เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ คนจำนวนหนึ่งจึงเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองอังกฤษ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเดินทางไปตั้งถิ่นฐานในสหรัฐ คานาดา ออสเตรเลีย และอิสราเอล 

ตอนที่หนึ่งของหนังสือ Bear Called Paddington (1958) ที่มีชื่อว่า “กรุณาช่วยดูแลหมีตัวนี้ด้วย” เล่าว่าบ้านของแพดดิงตั้นใน ‘Darkest Peru’  ถูกเผาผลาญวอดวายด้วย “ไฟ”  และป้าซึ่งจะต้องไปอยู่ใน “บ้านสำหรับหมีเกษียนอายุ” (หรือค่ายกักกัน ?) ก็ต้องส่งหมีน้อยออกไปไกลถึงลอนดอน ที่ซึ่งไม่มีใครสนใจต้อนรับ จนกระทั่งครอบครัวหนึ่งผ่านมาพบโดยบังเอิญและชวนไปอยู่ด้วย

หมีแพดดิงตั้นไม่ได้ถูกปฏิบัติดังเช่นสัตว์ หากได้เป็นสมาชิกครอบครัวโดยสมบูรณ์เหมือนพี่น้องของเด็ก ๆ ในบ้าน

ขณะที่คลิปวีดีโอราชินีกับหมีแพดดิงตั้นออกมาในเดือนมิ.ย.2565  รัฐบาลอังกฤษนำโดยบอริส จอห์นสัน กำลังจะเนรเทศผู้ขอลี้ภัยให้ออกไปอยู่ประเทศรวันดาเป็นกลุ่มแรก หลังจากที่ได้ประกาศไว้ว่า ผู้ที่อพยพเข้าเมืองมาโดยไม่ได้รับอนุญาตทั้งหมดในปี 2565 จะถูกย้ายไปรวันดา โดยทางการรวันดาจะเป็นฝ่ายรับเรื่องการขอลี้ภัยและดำเนินการต่าง ๆ แลกกับเงินจำนวน 120 ล้านปอนด์ต่อปีจากรัฐบาลอังกฤษ

นโยบายดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชน องค์กรมนุษยธรรม นักสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก   สำหรับพระราชินีเอลิซาเบธซึ่งไม่อยู่ในฐานะที่จะวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวในสาธารณะ เราก็ได้เห็นพระองค์ดื่มน้ำชายามบ่ายกับหมีแพดดิงตั้น

และในวันที่พระราชินีเอลิซาเบธได้จากโลกไปพบกับพระสวามี เจ้าชายฟิลิป ผู้ซึ่งเป็นอดีตผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากกรีซ คลิปวิดีโอราชินีกับหมีแพดดิงตั้นก็ได้รับการแชร์และกล่าวขวัญถึงใหม่อย่างมหาศาล

9 กันยายน 2565

Related