ภาพหลังฉาก : สงคราม การพลัดและการคืนถิ่น
นับจากกลางพฤษภาคม 2565 ที่กองทัพของสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNU) ยึดฐานติดกับชุมชนเซ่บอโบคืนมาได้ กองทัพพม่าก็เพียรพยายามระดมพลและสรรพาวุธทั้งจากทางเหนือ ใต้ ตะวันตกเพื่อชิงกลับไปอีก ตลอดการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนาน ชาวบ้าน รวมถึงนักเรียนหอพักซึ่งเป็นเด็ก ๆ จากพื้นที่อื่น ต้องเตลิดหนีข้ามน้ำเมย จนกระทั่งถูกผลักดันกลับ หนีกลับมาใหม่ และถูกผลักดันไปใหม่เช่นนี้นับรอบไม่ถ้วน
ว่ากันว่า เส้นทางตลอดแนวแม่สอด-พบพระ-อุ้มผางนั้นมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับโครงการสายส่งไฟฟ้าเมียวดี-ซูกาลี ภายใต้โครงข่ายการส่งกระแสไฟฟ้าในเขตเศรษฐกิจชายแดนไทย-พม่า ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ของกองทัพพม่าบนริมขอบแดนจึงมีความหมายกับประเทศไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในระดับชุมชนชายแดนสองฝั่งที่เป็นเครือญาติกัน หรือต่อการค้าขายในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ หากการจะยอมรับว่าชัยชนะของกองทัพพม่าจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนก็เป็นที่น่าเหนียมอายเกินไป มุมสันติภาพและความอยู่ดีมีสุขจึงได้รับการนำมากล่าวอ้างเป็นสำคัญ
หลังการโจมตีอันหนักหน่วงตลอดครึ่งพฤศจิกายน เมื่อกองทัพพม่าเข้ายึดฐานเซ่บอโบได้สำเร็จ ข่าวประชาสัมพันธ์เอิกเกริกผ่านช่องข่าวทหาร MWD Myanmar และ MRTV News ก็ตามมาเพื่อเผยภาพความชอบธรรมนั้น ในวิดีโอ ผู้นำชุมชนประกาศเชิญชวนเป็นภาษากะเหรี่ยงและพม่า กลุ่มชาวบ้านกำลังเดินกลับโดยมีทหารพม่า “เดินมาส่ง” ให้ขึ้นถึงบนบ้าน และคำอธิบายประกอบก็คือ กองทัพได้จัดการให้ “ผู้บริสุทธิ์” 119 คนที่หลบหนีการสู้รบกลับไปอยู่บ้านได้อย่างสงบสุขแล้ว
ภาพในข่าวออนไลน์ซึ่งเดินทางถึงเมืองใหญ่ สนับสนุนทัศนะที่ว่า การสู้รบที่ชายแดนเป็นเรื่อง “การจัดการภายในของกองทัพเพื่อนบ้าน” หากกองทัพพม่า “ควบคุมสถานการณ์ได้” แล้ว ประชาชนก็จะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างเป็นสุข แล้วการท่องเที่ยว ค้าขาย ลงทุนระหว่างไทย-พม่าก็จะดำเนินต่อได้ราบรื่น
หากภาพในชีวิตจริงที่จะเห็นได้สะดับตรับฟังและหันมองที่ชายแดน ก็ยังคือคนกว่าพันจากชุมชนเซ่บอโบและเบลอโด้ที่ต้องตั้งเพิงพักชั่วคราวแบบคนไร้บ้าน หรือหลบ ๆ ซ่อน ๆ อยู่ริมขอบแดนสองฟากฝั่ง และคำอธิบายประกอบก็คือ “เมื่อผู้นำ DKBA ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพพม่าเรียกผู้พลัดถิ่นจากเมืองเลเก้ก่อ-ผะลูที่หนีลงใต้มาพักอยู่ริมน้ำแถวนั้นไปประชุม ทหารพม่าก็ยืนคุมอยู่ด้วย แล้วการจัดแจงถ่ายทำฉากคืนถิ่นดังกล่าวก็เริ่มต้นทันที ชาวบ้านถูกเรียกไปเซ่บอโบ แต่เขาไม่ใช่คนเซ่บอโบ บ้านที่เดินขึ้นไปก็ไม่ใช่บ้านเขา ดังนั้นพอถ่ายวิดีโอเสร็จ พวกเขาก็ต้องกลับมาเป็นคนพลัดถิ่น (IDP) ในเพิงพักริมน้ำเหมือนเดิม”
ทั้งหมดนี้อยู่ที่จะมองภาพในวิดีโอ หรือภาพก่อนและหลังการถ่ายทำวิดีโอ
หรืออยู่การเลือกมองเห็น และไม่เห็น ของแต่ละคน
8 ธันวาคม 2565
ภาพประกอบ ผู้พลัดถิ่นริมน้ำเมย โดย ชาวบ้านริมเมย