ผู้พลัดถิ่น (IDPs) จากค่ายดอโน่กู่เข้ามาลี้ภัยในไทยแล้ว
ผู้พลัดถิ่นจากค่ายดอโน่กู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิง เด็ก และคนชรา ที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากพื้นที่ตอนในรัฐกะเรนนี ประมาณ 1,300 คนได้เข้ามาหลบภัยสงครามในเขตประเทศไทย ห่างจากค่ายผู้ลี้ภัยในสอยไปประมาณ 1 กิโลเมตร
เบื้องต้น คณะกรรมการค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนีได้จัดความช่วยเหลือด้านอาหารที่ได้รับจากองค์กรมนุษยธรรมให้ พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นส่วนหนึ่งของค่ายผู้ลี้ภัยกะเรนนี แคมป์ 3 ซึ่งเรียกกันว่า “อูลอเรห์” แต่ได้ปิดตัวลงเมื่อมีการโยกย้ายผู้คนมาที่ค่ายในสอยในปัจจุบันพร้อมกับจำนวนผู้ลี้ภัยที่ลดลง และต่อมาได้มีการจัดสถานที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กักตัวเพื่อเฝ้าระวังโควิด 19
เย็นวาน ผู้ลี้ภัยอีกราว 200-300 คนเข้ามาหลบภัยบริเวณตะเข็บชายแดนบ้านน้ำเพียงดิน และได้รับความช่วยเหลือจากชาวบ้านกะยัง (ปาดอง) บ้านห้วยปูแกงในเรื่องอาหารการกิน
การสู้รบและความรุนแรงในรัฐกะเรนนีที่ดำเนินตลอดมาในเขตอำเภอเดมอโซ พรูโซ และลอยก่อ ขณะนี้ได้ปะทุขึ้นทางด้านตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เนื่องจากกองทัพกะเรนนี KNPP ต้องการจะผลักดันฐานทหารพม่าออกไปให้พ้นจากบริเวณ ขณะที่มีการส่งกำลังทหารและเสบียงเข้ามาสำหรับกองทัพพม่าอีกจำนวนมาก
“การสู้รบอาจจะดำเนินต่ออีกสักพัก และชาวบ้านจากดอโน่กู่อาจจะต้องขอลี้ภัยต่อสักพัก แม้ว่าเจ้าหน้าที่ไทยจะไม่อยากให้จำนวนผู้ลี้ภัยในค่ายเพิ่มขึ้น เราก็หวังว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยและรับความช่วยเหลือผ่านคณะกรรมการค่ายต่อไป” ผู้ลี้ภัยกะเรนนีที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานให้ความคิดเห็น
ก่อนหน้าที่จะมีการโจมตีทางอากาศครั้งนี้ ผู้พลัดถิ่นสาวในค่ายดอโน่กู่เคยกล่าวกับเราไว้ว่า “คนกะเรนนีหนีสงครามแต่เด็กจนโต จนแต่งงานมีลูก จนสาว ไม่มีใครอยากให้มีการสู้รบ ไม่มีใครชอบสงคราม แต่จะเป็นอย่างนั้นได้ กองทัพพม่าต้องออกไปและเอาอาวุธของพวกเขาออกไปจากพื้นที่ของเรา ตั้งแต่ปู่ ย่า ตา ยาย เราต้องการเพียงเท่านี้ การต่อสู้เพื่อผลักดันทหารพม่าออกไปจึงเป็นสิ่งจำเป็น”
“แต่ละคนหวังว่าเมื่อจำเป็น พวกเขาจะสามารถวิ่งมาหลบภัยในประเทศไทย และเราหวังว่าเพื่อนบ้านของเราจะช่วยเราในยามยากลำบากดังเดิม”
8 มกราคม 2565
ภาพประกอบ : ผู้พลัดถิ่นดอโน่กู่ ก่อนการโจมตีทางอากาศในวันที่ 7 มกราคม 2565 ถ่ายโดย ชาวบ้านกะเรนนี