“ขอให้เธอนำพวกเรากลับบ้าน” หมู่บ้านบางกลอย

“ขอให้เธอนำพวกเรากลับบ้าน” หมู่บ้านบางกลอย

| | Share

ประมวลภาพงาน “10 ปี : บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ผู้พิทักษ์สิทธิแห่งบางกลอย ณ ใจแผ่นดิน”

“ในหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน สิ่งที่พี่บิลลี่ทำไว้หลงเหลืออยู่ ตอนนี้มันนานแล้วก็ยังไม่สำเร็จ ถ้าพี่บิลลี่รับรู้ อยากให้ส่งพลังมาช่วยให้สำเร็จไวๆ ชาวบ้านจะได้อยู่อย่างดีมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อนที่เขาหายตัวเขาวางแผนไว้แล้วเขาจะให้หนูไปอยู่กับลูกกับพี่น้องที่บางกลอยบน วางแผนจะตั้งหมู่บ้านเล็กๆ มีโรงเรียนเล็กๆ สอนภาษาปกาเกอะญอกับภาษาไทย” มึนอ หรือพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่กล่าวความรู้สึกในวันครบรอบ 10 ปีการสูญเสียบิลลี่ กับความฝันของการกลับบ้านที่ยังคงเด่นชัด 

เมื่อวันที่ 17-18 เมษายน 2567 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมร่วมกับสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน ภาคีเซฟบางกลอย บางกลอยคืนถิ่น และ P-Move ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม รวมทั้งครอบครัวของบิลลี่และชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดิน-บางกลอย ร่วมจัดกิจกรรมรำลึกเนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี “บิลลี่” พอละจี รักจงเจริญ นักพิทักษ์สิทธิ์แห่งบางกลอย-ใจแผ่นดิน ที่ถูกบังคับสูญหายเมื่อปี 2557 ที่หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี

วันที่ 17 เมษายน 2567 ในเวลาช่วงเย็น ชาวบ้านบางกลอยกว่าหกสิบคนได้มารวมตัวกันที่ลานหน้าศาลาพอละจี บริเวณที่จัดงาน โดยบรรยากาศในงานเต็มไปด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ ฟังเพลงที่ขับร้องโดย อัญชลี อิสมันยี ร่วมทานอาหารเย็น และก่อกองไฟปิ้งมันเผา นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมรำลึกถึงบิลลี่รวมถึงผู้นำชุมชนอย่างปู่คออี้ มีมิ และกิ๊ป ต้นน้ำเพชร บุคคลสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้กับพี่น้องบางกลอย โดยมีตัวแทนของครอบครัวกล่าวความรู้สึก ก่อนที่จะร่วมยืนสงบนิ่งและรดน้ำรูปของบิลลี่ ปู่คออี้ และกิ๊ป ต้นน้ำเพชร เพื่อไว้อาลัยและระลึกถึงคุณงามความดีของบุคคลสำคัญทั้งสาม 

ต่อมาเป็นกิจกรรมฉายหนังกลางแปลงสนับสนุนภาพยนตร์โดยมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เรื่องวิถีชีวิต (The Way of Lives) ภาพยนต์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงใจแผ่นดินที่วันหนึ่งต้องถูกบังคับให้พลัดพรากจากถิ่นฐานดั้งเดิมตั้งแต่บรรพบุรุษพร้อมกับวิถีชีวิตของพวกเขา ภาพยนตร์ดำเนินเรื่องโดยภาษาปกาเกอะญอทั้งเรื่องและมีชาวบ้านบางกลอยเป็นผู้แสดงทั้งหมด บิลลี่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการจัดทำภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นจนสำเร็จและได้รับรางวัลมากมาย ต่อด้วยเรื่อง Billy and “The Way of Lives” ภาพยนตร์สั้นที่มีบิลลี่บอกเล่าถึงบางกลอย หลังการฉายหนังเรื่อง “วิถีชีวิต” ในการประชุมกะเหรี่ยงศึกษา จัดโดยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา งานดังกล่าวเป็นช่วงเวลาก่อนที่บิลลี่จะถูกบังคับให้สูญหายสามเดือนต่อมา ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายคือ The Purple Kingdom เป็นภาพยนตร์นำแสดงโดยมึนอ หรือพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาบิลลี่ ภาพยนตร์ได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันของมึนอ เนื้อเรื่องบอกเล่าเรื่องราวของมึนอกับการตามหาบิลลี่ที่หายตัวไปควบคู่กับโลกความฝันของเธอ พร้อมกับเรื่องราวของหญิงชนชั้นกลางคนหนึ่งที่เดินทางตามหาคนรักของตนที่สูญหายในป่าจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก 

18 เมษายน 2567 วันที่สองของการจัดงานรำลึกได้มีการจัดกิจกรรม “กล่องความทรงจำ” ให้ชาวบ้านบางกลอยได้ร่วมแลกเปลี่ยนความทรงจำของตนต่อชุมชน และสะท้อนปัญหารวมถึงสิ่งที่คาดหวัง โดยชาวบ้านส่วนใหญ่สะท้อนว่าอยากกลับไปที่บางกลอยบนเพื่อประกอบชีวิตตามวิถีดั้งเดิม ทำไร่หมุนเวียนอย่างสงบสุข ปัจจุบันที่อยู่บางกลอยล่างนั้นประสบปัญหาไม่มีที่ดินทำกิน อีกทั้งเรียกร้องให้มีการยอมรับตัวตนของชนเผ่าพื้นเมือง และขอความเป็นธรรมให้กับครอบครัวบิลลี่ หนึ่งในผู้เข้าร่วมได้บอกเล่าความคิดของตนต่อชุมชนผ่านกล่องความทรงจำของตนว่า “เราอยากกลับไปอยู่ที่บางกลอยบน กลับไปที่ดั้งเดิมที่พ่อแม่เราเคยอยู่ เราอยู่ที่บางกลอยแล้วมีความสุขไม่เหมือนที่นี่มีแต่ความวุ่นวาย แม้พี่บิลลี่จะไม่อยู่แล้ว แต่เราไม่ลืมจะคิดถึงเขา เรากลับมาที่นี่ไม่เห็นที่ดั้งเดิมเหมือนแต่ก่อนเจอแต่สิ่งใหม่ๆ แล้วเราอยากกลับไปทำกินดั้งเดิมของเรา อยู่บางกลอยไม่มีที่ดินทำกินแล้วลำบากกับเรามาก เราต้องการไร่หมุนเวียนดังเดิม”

เมื่อถามโพเราะจี รักจงเจริญ แม่ของบิลลี่ ที่ได้มาเข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งสองวันถึงความรู้สึกที่ต้องสูญเสียบิลลี่ ซึ่งปัจจุบันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว โพเราะจีกล่าว “นานแล้ว 10ปีจริงหรือเปล่า” โพเราะจีเล่าต่อว่าตั้งแต่เกิดเหตุตนเคยฝันถึงบิลลี่อยู่สองสามครั้ง “ฉันเคยฝันว่าบิลลี่ กลับมากินข้าวที่บ้าน กินข้าวกับแม่ที่บ้าน” เมื่อถามว่าได้ทำอาหารเมนูอะไรให้บิลลี่กิน โพเราะจีตอบ “ได้หุงข้าว ทำน้ำพริกผัด แล้วก็กินข้าวร่วมกัน”

“10 ปี แล้ว ยังมีคนส่วนน้อยที่คิดว่าพี่บิลลี่ยังมี่ชีวิตอยู่ ก็อยากจะบอกว่าถ้ามีชีวิตอยู่จริงก็กลับมาหาครอบครัว คนส่วนน้อยจะได้หายสงสัย ส่วนคนส่วนมากรวมทั้งครอบครัวลบิลลี่ก็คิดว่าบิลลี่ไม่มีชีวิตอยู่แล้ว” มึนอ กล่าวถึงความรู้สึกของตน ณ วันที่บิลลี่ต้องจากไปเป็นเวลาครบ10ปี 

สำหรับการดำเนินการด้านกฎหมาย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ และพรพิมล มุกขุนทดชี้แจงถึงความคืบหน้าโดยเฉพาะการฟ้องคดีแพ่ง ซึ่งทีมทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นทนายความของ มารดา ภรรยาและบุตรของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ ในฐานะโจทก์ เดินหน้ายื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นจำเลย กรณีเจ้าหน้าที่ภายในสังกัดของจำเลย กระทำละเมิดโดยการอุ้มฆ่าบิลลี่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยเรียกค่าสินไหมทดแทน อาทิ ค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาเรียกร้องความเป็นธรรม ค่าเสียหายต่อสิทธิ เสรีภาพและชีวิต ค่าเสียหายต่อจิตใจ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน และค่าขาดไร้อุปการะ รวมเป็นค่าเสียหายกว่า 44 ล้านบาท โดยยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ศาลมีคำสั่งรับฟ้องโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์ และนัดชี้สองสถานในวันที่ 10 มิถุนายน 2567 เพื่อกำหนดประเด็นและวันนัดสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป 

ในส่วนของคดีอาญา ยังอยู่ในขั้นตอนยื่นอุทธรณ์เพื่อโต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลชั้นอุทธรณ์ต่อไป โดยมีการอุทธรณ์ทั้งฝ่ายโจทก์ โจทก์ร่วม และฝ่ายจำเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จำเลยที่ถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี นั้น โจทก์ร่วม(มารดาและบุตรของบิลลี่)เห็นว่าโทษดังกล่าวนั้นต่ำเกินไปไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์กระทำความผิดซึ่งร้ายแรงอย่างยิ่ง และจำเลยอื่นซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์ฯได้ร่วมกระทำผิดกับนายชัยวัฒน์ฯก็ควรได้รับโทษตามคำฟ้องด้วย

นายพงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย ตัวแทนจากกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ได้กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องคดีความในส่วนของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ดิน ซึ่งมีชาวบางกลอย 28 คน ถูกอุทยานฯ ฟ้องในข้อหาบุกรุกป่า หลังจากกลุ่มชาวบ้านกลับไปทำกินบนพื้นที่ดั้งเดิม เมื่อปี 2564 ล่าสุดตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้ชะลอหรือยุติคดีดังกล่าวกับกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานอัยการสูงสุด ก่อนหน้านี้ชาวบ้านได้รับหนังสือตอบกลับจากอัยการสูงสุดให้ยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นอัยการ พงศักดิ์กล่าวว่ายังคงต้องติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะกรณีคดีของเยาวชน 2 คน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 28 คน ที่ถูกดำเนินคดีจะมีการนัดศาลในเร็ววันนี้ ในส่วนความคืบหน้าในการกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินนั้น พงษ์ศักดิ์กล่าวว่าตนยังมีความหวังกับการตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่าย โดยรัฐบาลปัจจุบันได้ดำเนินการต่อเนื่องในส่วนมติของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามรับรองแนวทางตามมติไว้ก่อนหน้า 

เกรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชพ.) ชี้แจ้งความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ที่เสนอโดยสภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 สภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง พร้อมกับร่างพระราชบัญญัติอื่นอีก 4 ร่าง โดยมีร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เสนอโดยคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลัก เกรียงไกรกล่าวว่านับเป็นข่าวดีที่พ.ร.บ.คุ้มครองชาติพันธุ์ฯ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และเน้นย้ำถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมโดยตรงของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองทุกคน 

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจติดตามผลคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ในคดีอุ้มฆ่าบิลลี่ต่อไปอย่างใกล้ชิด รวมถึงคดีแพ่งที่ครอบครัวบิลลี่ยื่นฟ้องกรมอุทยานฯ และคดีที่เกี่ยวข้องกับการออกมาเรียกร้องสิทธิของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวของนายบิลลี่และชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย-ใจแผ่นดินที่เดินหน้าเรียกร้องความยุติธรรมมาเกือบสิบปี จะสามารถได้รับความเป็นธรรมอย่างแท้จริง อีกทั้งนำเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงมาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อยุติวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดได้ในที่สุด

#บางกลอยคืนถิ่น #saveบางกลอย #ใจแผ่นดิน #กลุ่มชาติพันธ์ุ #ป่าแก่งกระจาน #บางกลอย #บิลลี่ #กระเหรี่ยง #ชาติพันธุ์คือคน #SaveBangKloi #Indigenous #Humanright
เนื้อหาและภาพโดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม Cross Cultural Foundation (CrCF) 

Related