บันทึกในวันที่โควิดคืบเข้าสู่พื้นที่สงคราม
ถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่า มื่อตรอถูกขนาบข้างด้วยพื้นที่มีการแพร่ระบาดโควิด 19 รุนแรง คือ เขตกองพลที่ 3 ของ KNU หรือจังหวัดเคล่อลุยทู (ยองเลบิน) และอำเภอสบเมย-แม่สะเรียงของไทย
มื่อตรอเข้าไม่ถึงวัคซีน คนแถบชายแดนเคยได้ข่าวว่าจะมีวัคซีนบริจาคจากสหรัฐฯมาให้ผู้ลี้ภัยกับชุมชนคู่ขนานสองฝั่งไทย-พม่า แต่ก็ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ด้วยเหตุอะไรสักอย่าง จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ถึงได้เริ่มมีการนำซิโนฟาร์มไทยเข้าไปฉีดในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละกับชุมชนฝั่งพม่า แต่ก็คงอีกนานกว่าจะกระจายได้ทั่วถึง เพราะกับคนไทยก็ยังไม่ทั่วถึง
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ฉันเห็นผู้นำมื่อตรอพยายามสะกัดกั้นไวรัสไม่ให้เข้าสู่พื้นที่ ป้ายในภาพที่แม่หนึท่า ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะไปต่อถึงบ้านเดปู่โน่ บอกไว้ว่า
** ผู้นำ องค์กร หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานใดที่จำเป็นต้องออกไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่ ต้องกักตัว 14 วันจึงจะได้ใบอนุญาตให้เดินทางได้
** ผู้ที่จะออกไปปฏิบัติหน้าที่จะต้องมีสถานที่พักแน่นอน ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ไม่ไปแวะร้านค้าข้างล่าง และจะต้องใส่หน้ากากอนามัย รักษาระยะห่างกับผู้อื่นเสมอ
** ข้าวของต่าง ๆ ที่นำเข้าจากเมือง ต้องกักเก็บไว้ 48 ชั่วโมงก่อนจะเอาเข้าหมู่บ้านได้
** ผู้ที่เดินทางกลับจากประเทศไทย รวมถึงคนขับเรือ จะต้องได้รับการตรวจสอบก่อนเข้าหมู่บ้านได้ หากไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกกักตัวไว้ก่อน 14 วัน
แต่มันก็เหมือนกับในเมืองไทย ที่พอนาน ๆ ไปไม่มีใครเป็นอะไรสักที ก็เริ่มลดความเข้มงวด เริ่มผ่อนปรน แล้วในที่สุดพวกเขาก็เจอผู้ติดเชื้อ คนแรก คนที่สอง คนที่สาม
คนทำงานหลายคนเป็นห่วงมาก เพราะชาวบ้านก็ทุกข์ยากสาหัสอยู่แล้วกับการพลัดถิ่นซ้ำซาก อยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่รู้จะต้องวิ่งหนีกันในวันไหน แต่ฉันกลับพบว่า พวกเขามองโควิดเป็นเรื่องปกติธรรมดามาก ยอมรับสภาพการระบาดอย่างไม่หวาดวิตกเหมือนฉันและคนแถวบ้านฉันในเมืองไทยเลย
ถามว่าเป็นเพราะเขาไม่รู้ข้อมูลเหรอว่ามีคนตาย ป่วยหนัก ป่วยนานเรื้อรัง ฯลฯ ฉันว่าก็มีบางส่วนที่อาจจะไม่รู้ แต่หลายส่วนก็รู้ดี เพราะเขาก็พูดถึงคนนั้นเจ็บ คนนี้ตาย ไม่รู้เป็นอะไรตาย อาจจะตายเพราะโควิด ฯลฯ กัน เรื่องทั้งหมดนี้คุยไปพร้อม ๆ กับเรื่องการเตรียมตัวที่จะต่อสู้กับสภาพที่ชุมชนจะถูกโจมตีและต้องหนีอีกครั้งหนึ่งเมื่อหมดฝนนี้
คุยอยู่สักพักจนฉันเริ่มเข้าใจ เป็นการเข้าใจด้วยความรู้สึกเศร้าใจมาก ผู้คนในมื่อตรออยู่อยากยากลำบากเสมอมา พวกเขาเจ็บไข้ได้ป่วยเสมอเพราะชีวิตที่ต้องหนี ๆ ๆ แล้วพวกเขาก็ล้มตาย เพราะเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนสงคราม จะแบกหามกันไปในป่าไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะฉะนั้น การเจ็บป่วยล้มตาย กลับกลายเป็นเรื่องที่พบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ที่สำคัญ ชาวบ้านกลัวทหารพม่ามาเข่นฆ่า ทำร้าย ทรมาน และคุกคามชีวิตมากกว่าการเป็นโควิด
ถึงวันนี้ ชาวบ้านดูแลตัวเองด้วยสมุนไพร และฝ่ายสาธารณสุขกะเหรี่ยงก็คงพยายามทำงานของตัวอย่างดีที่สุด พวกเขาสู้กับมันเหมือนกับสู้กับทุก ๆ ภัยคุกคามของชีวิต
ซึ่งสติอันมั่นคงและไม่ตื่นตระหนกนี้กลับทำให้ฉันทั้งชื่นชม และแอบเศร้าอยู่ลึก ๆ
4 ตุลาคม 2564
ภาพถ่ายและเรื่องโดย ชาวบ้านสาละวิน