ถ้อยแถลงวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก 2564
แม้ร.ม.ต.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะให้สัมภาษณ์ว่าประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง
เวทีถาวรสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง (UN Permanent forum on Indigenous Issues) ก็ชี้ว่า คำว่า “ชนเผ่าพื้นเมือง” นั้นเป็นสิทธิในการระบุตัวตน (self-identification) ของตนเอง และถือว่า “การระบุตนเอง” ว่าเป็นชนเผ่าพื้นเมืองหรือไม่เป็นนั้น มีความสำคัญกว่าการ “นิยาม” (definition) ซึ่งวางกรอบให้ผู้อื่นตัดสิน
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่จะยืนยันสิทธิความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของตน ก็คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ครองอำนาจปกครองประเทศ หากได้สืบทอดเชื้อสายดำรงอยู่ในดินแดนหนึ่งมาก่อนยุคอาณานิคม หรือก่อนการกำหนดเส้นขอบแดนรัฐ มีความผูกพันแนบแน่นกับทรัพยากรและผืนดินผืนน้ำที่อาศัยอยู่ ตลอดจนรักษาเอกลักษณ์ทางภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ และ/หรือมีวิถีทางสังคม เศรษฐกิจ การปกครองของตนเอง
ความเป็นชนเผ่าพื้นเมือง จึงมีความหมาย “ข้ามผ่านเส้นพรมแดน” และเป็นสิทธิของกลุ่มชนที่อาจอ้างถึงโดยไม่อ้างอิงกับเส้นพรมแดนรัฐปัจจุบัน
เพราะการเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในท้องถิ่นใดไม่ได้มีความหมายว่า เชื้อสายชนกลุ่มนั้นจะต้องปักหลักอยู่ ณ ตำแหน่งบ้านหลังเดิมตลอดหลายร้อยปี ครอบครัวมนุษย์ทั้งหลายแต่ละรุ่น ล้วนมีเสรีภาพที่จะเคลื่อนย้ายถิ่นฐานได้ด้วยเหตุนานับประการ ชนพื้นเมืองก็ย่อมมีสิทธิเสรีภาพเช่นเดียวกันนี้
ยิ่งในยุคที่ยังไม่มีเส้นพรมแดน หรือเริ่มมีแล้วเป็นเส้นในจินตนาการที่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน การที่ชนเผ่าพื้นเมืองกลุ่มใดจะไม่ปักหลักอยู่ในพิกัดภูมิศาสตร์เดิมเป๊ะ ก็ย่อมไม่สามารถเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธสิทธิได้
27 ปีนับจากการกำหนดให้วันที่ 9 สิงหาคมเป็นวันชนเผ่าพื้นเมืองโลก ชนเผ่าพื้นเมืองซึ่งอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ก่อนการมาถึงของเจ้าอาณานิคมอังกฤษและฝรั่งเศส และการกำหนดเส้นขอบแดนสยามได้รอบใน ร. 5 ยังคงถูกปฏิเสธตัวตน ปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมือง ปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน ถูกคุกคามพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ทำกิน และที่อยู่อาศัยด้วยการทำไม้ เขื่อน เหมืองแร่ การท่องเที่ยว นโยบายอนุรักษ์ที่ปฏิเสธการมีอยู่ของคน และสงคราม
ในปี 2564 คนจำนวนมากยังถูกบังคับ หรือกดดันให้ต้องอยู่ในภาวะพลัดถิ่นฐาน ทั้งในประเทศไทยและพม่า และข้ามเส้นพรมแดนจากประเทศพม่ามาเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศไทย
ในฐานะที่เป็นมิตรสหายของชนเผ่าพื้นเมือง หรือเป็นชนเผ่าพื้นเมือง หนึ่งในภารกิจของเราทั้งหลายที่สามารถทำได้ตลอดเวลา จึงคือการเล่าขานเผยแพร่ทำความเข้าใจถึงตัวตน สิทธิ และภาวะที่ชนเผ่าพื้นเมืองในภูมิภาคนี้กำลังเผชิญ
เราหวังว่า วันหนึ่ง คำว่าชนเผ่าพื้นเมือง จะได้รับการอธิบายไว้ในหนังสือเรียนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรี
9 ส.ค. 2564
ภาพประกอบ : หญิงชาวกะยาจากรัฐกะเรนนี โดยเพื่อนไร้พรมแดน