3 ปีหลังรัฐประหารในประเทศพม่ากับสถานการณ์และวิกฤตด้านมนุษยธรรมของผู้พลัดถิ่นในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะเรนนี
3 ปีหลังจากวันนั้น ความขัดแย้ง ความรุนแรง การปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่ากับประชาชนกลุ่มชาติพันธ์ุต่างๆ ในประเทศ ได้ลุกลาม ยืดเยื้อ และสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
3 ปีแห่งความขัดแย้งในประเทศพม่าส่งผลให้จำนวนผู้พลัดถิ่นในประเทศในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงและรัฐกะเรนนีเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ประชากรเกินครึ่งในรัฐกะเรนนีต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในบ้านของตนเอง ขณะที่ผู้พลัดถิ่นในพื้นที่ของกอทูเลก็มีมากกว่าเจ็ดแสนคน
การโจมตีด้วยปืนใหญ่ ระเบิดและการโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่องของกองกำลัง SAC ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นในกอทูเลทางตอนเหนือและตะวันตก ส่งผลให้มีผู้พลัดถิ่นในกอทูเลสูงเป็นประวัติการณ์ ตัวเลขจากการรายงานของ Karen Peace Support Network (KPSN) พบว่ามีผู้พลัดถิ่นถึง 752,669 คน ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2566 ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 20% จากรายงานล่าสุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ที่มียอดรวม ผู้พลัดถิ่นจำนวน 637,414 ราย
ในขณะที่ช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมามีการโจมตีที่เกิดขึ้นเฉพาะในเขต Kler Lwe Htu (Nyaunglebin) เพียงแห่งเดียว มีการยิงปืนใหญ่เกือบ 500 ครั้ง การโจมตีทางอากาศ 20 ครั้ง และการโจมตีด้วยโดรน 7 ครั้ง ทําให้พลเรือนเสียชีวิต 29 ราย
ขณะที่รัฐกะเรนนีที่มีประชากรมากกว่า 350,000 คน พบว่าประชากรเกินครึ่งกลายเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศ Karenni Civil Society Network (KCSN) รายงานว่า 35 เดือนหลังรัฐประหารของทหารพม่าพบว่ามีผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเรนนีมากกว่า 282,615 คน ในขณะที่ประมาณ 10,000 คนอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย 2 แห่งในประเทศไทยมานานกว่า 3 ทศวรรษ นอกจากนี้ยังมีการบันทึกและรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ตั้งแต่หลังรัฐประหาร จนถึงวันที่ 28 มกราคม 2567 พบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนถึง 4,092 ครั้ง แบ่งออกเป็น พลเรือนเสียชีวิต 496 คน พลเรือนถูกจับกุม 373 คน พลเรือนได้รับบาดเจ็บจากการโจมตี 526 คน และบ้านเรือนของพลเรือนได้รับความเสียหายและถูกทำลายถึง 2,697 ราย
ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาล่าสุดหลังจากสูญเสียด่านที่ตั้งในพื้นที่รัฐกะเรนนีอย่างต่อเนื่อง กองกำลัง SAC ตอบโต้ด้วยการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ต่อพื้นที่พลเรือนในเมือง Loikaw, Shadaw, Demawso and Pruso ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับบ้านเรือนของประชาชน รวมถึงตลาดสองชั้นในเมืองลอยก่อที่ถูกเผาโดยโดรนทิ้งระเบิดเพลิง
ความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้นนอกจากจะส่งผลให้จำนวนประชากรผู้พลัดถิ่นในประเทศเพิ่มขึ้นแล้ว ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้เกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมทุกพื้นที่ จากรายงานพบว่าราคาข้าวในบางท้องถิ่นราคาสูงเพิ่มขึ้นเกือบ 70% ราคาข้าวที่พุ่งสูงขึ้นนี้มาจากหลายสาเหตุ ไล่ตั้งแต่การที่ประชาชนต้องเคลื่อนย้ายหนีการสู้รบอยู่ตลอดเวลา ทำให้พื้นที่ที่สามารถปลูกข้าวได้มีน้อยลงและคนที่สามารถปลูกข้าวได้ก็มีจำนวนน้อยลง ถึงแม้ว่าจะสามารถปลูกข้าวได้พอถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็ไม่สามารถเดินทางได้เนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ในบางกรณีข้าวถูกทำลายทิ้งโดยทหารพม่า ทำให้ปริมาณข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในพื้นที่ลดลง นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นจากการนำเข้าจากประเทศไทย ส่งผลกระทบให้ค่าใช้จ่ายในการขนส่งทั้งจากชายแดนไทย หรือระหว่างรัฐสูงตามไปด้วย การนำเข้าข้าวจากรัฐอื่นเข้ามาที่กอทูเลก็น้อยลง นอกจากข้าวแล้วปัจจุบันราคาสินค้าในประเทศพม่าเกือบทุกอย่างมีราคาที่สูงขึ้นทั้งหมดทั่วประเทศ
จากตัวเลข IDP และราคาข้าวล่าสุด Karen Peace Support Network (KPSN) รายงานว่าจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนถึง 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เพื่อจัดหาความต้องการขั้นพื้นฐานด้านข้าว สำหรับผู้พลัดถิ่นทั้งหมดในพื้นที่กอทูเล
ทั้งนี้ KPSN ได้เรียกร้องให้ผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นนี้โดยตรงผ่านองค์กรในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือชุมชนเหล่านี้มาหลายสิบปี และสามารถมั่นใจได้ว่าความช่วยเหลือเหล่านี้จะไปถึงผู้พลัดถิ่นทั้งหมด
แหล่งข้อมูล
KCSN : Jan 15-28, 2024 Summary of SAC human rights violations in Karenni State and Pekhon Township
KPSN : Massive displacement and soaring rice prices deepen humanitarian crisis in Kawthoolei
ภาพปกโดย KCSN ภาพบ้านเรือนประชาชน และตลาดในเมืองลอยก่อที่ถูกเผาโดยโดรนทิ้งระเบิดเพลิงของกองกำลัง SAC