ไม่ใช่เรื่องชั่วคราวที่จะจบลงง่าย ๆ

ไม่ใช่เรื่องชั่วคราวที่จะจบลงง่าย ๆ

| | Share

ไม่ใช่เรื่องชั่วคราวที่จะจบลงง่าย ๆ

เย็นวันที่ 6 เมษายน ทางการรายงานจำนวนผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำเมย อ.แม่ระมาดและแม่สอด จ.ตากในที่พักพิง 13 จุดเพิ่มขึ้นรวมเป็น 8,236 คน กระจายอยู่ในแม่สอดกว่าห้าพันคน และแม่ระมาดอีกกว่าสองพันคน

กลางดึกคืนวานถึงสายวันนี้ เสียงปืนใหญ่ของกองกำลัง BGF ดังสนั่นมาถึงฝั่งไทย การสู้รบเหมือนจะเคลื่อนเข้าไปใกล้โครงการเมืองจีนใหม่ “ฉ่วยก๊กโก่” ผู้ลี้ภัยซึ่งมีเด็กเป็นสัดส่วนสูงยังคงหนีข้ามแม่น้ำเมยมาไม่หยุดหย่อน รวมถึงนักเรียนในหอพักของวิทยาลัยกอมูร่าที่อยู่ติดพรมแดน

ชาวบ้านชายแดนตั้งข้อสังเกตว่า การรับมือกับภาวะฉุกเฉินของหน่วยงานความมั่นคงชายแดนคราวนี้ดูจะเป็นไปราบรื่นกว่าที่เคยเป็นมา เจ้าหน้าที่เปิดทางให้คนหนีภัยได้ข้ามพรมแดนมาอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราว ซึ่งหลายแห่งเป็นท่าส่งสินค้าเอกชนที่ผู้ประกอบการเจ้าของท่าลุกขึ้นมาจัดการระดมความช่วยเหลือด้วยตัวเอง ส่วนในเขตแม่ระมาด หน่วยงานรัฐอย่างสาธารณสุขก็ลงพื้นที่เข้าดูแลผู้คนร่วมกับชุมชนและคริสตจักรท้องถิ่น แม้ข้อจำกัดเดิม ๆ ตามแนวคิดเดิม ๆ เช่น ไม่ต้องการให้มีผู้ถ่ายรูปออกไปเผยแพร่เป็นข่าว จะยังคงอยู่ แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เองก็ทราบว่า การพยายามซุกซ่อนคนจำนวนหลายพันคนไม่ให้พบเห็นเป็นข่าวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ อีกทั้งยังเป็น “งานที่ไม่จำเป็น” ท่ามกลางหลายสิ่งที่ต้องจัดการอยู่ในขณะนี้

ผู้ลี้ภัยรายหนึ่งให้ข้อคิดเห็นว่า “เราคิดว่าเรื่องนี้จะไม่จบลงง่าย ๆ ได้ยินข่าวว่าตอนนี้ฝ่ายที่บุกเข้ามาจะโจมตีฉ่วยก๊กโก่ถอยหลังแล้ว แต่ทางกองทัพพม่าเพิ่มกำลังคนขึ้นมาที่ชายแดนเยอะมาก ๆ BGF ก็ไม่ยอมเสียพื้นที่ตัวเองแน่เพราะเขามีอำนาจมาก สั่งอะไรก็ได้ในพื้นที่เรา ผู้ใหญ่บ้านใครก็ต้องก้มหัวให้เขา มาถึงตอนนี้แล้วคงจบไม่ได้”

ด้วยจำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กับสถานการณ์ที่แม้เสียงปืนจะเงียบลงได้ในวันหนึ่ง ก็จะเป็นความเงียบเพียงชั่วคราว เราจึงต้องการนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือการอพยพลี้ภัยพื้นที่พักพิงชั่วคราวย่อมเหมาะสมกับการพักชั่วคราว 

หากในระยะเกินกว่า 2-3 วัน มนุษย์ย่อมต้องการที่พักที่มีสาธารณูปโภคถูกสุขลักษณะและปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้หญิงที่ต้องอาศัยอยู่รวมกันกับคนไม่รู้จักจำนวนมาก รวมถึงการจัดการด้านอาหารและความช่วยเหลืออื่น ๆ ที่เป็นระบบมากกว่านี้ การเปิดให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และองค์กรมนุษยธรรมหลากหลายที่มีประสบการณ์กับผู้ลี้ภัยมายาวนานเข้ามามีส่วนร่วม “อย่างเป็นทางการ” จึงมีความสำคัญยิ่ง

ที่สำคัญที่สุดก็คือ เมื่อเกินระยะ 2-3 วันนี้แล้ว รัฐไทยจะต้องไม่รีบร้อน “กดดัน” ให้ชาวบ้านรู้สึกไม่กล้าอยู่และจำเป็นต้องรีบกลับไปเป็นผู้พลัดถิ่นอยู่ริมน้ำหรือในไร่ในป่าอีก ความมั่นคงชายแดนย่อมรวมถึงความสัมพันธ์อันดีของผู้คนสองฟากฝั่งพรมแดน และเราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ผู้ลี้ภัย ผู้ให้ความช่วยเหลือ และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการท้องถิ่น ลำบากไปมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว

นโยบายคนข้ามแดนที่ตอบโจทย์สิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ “อย่างเป็นรูปธรรม” จะต้องเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่กำลังรณรงค์เพื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 

7 เมษายน 2566
ภาพประกอบ ผู้ลี้ภัยริมแม่น้ำเมย จาก FB : Karen Information Center

Related