ไทยมีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้ลี้ภัย และการส่งกลับผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนไทย

ไทยมีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้ลี้ภัย และการส่งกลับผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนไทย

| | Share

ไทยมีกฎหมายที่สามารถคุ้มครองผู้ลี้ภัย และการส่งกลับผู้ลี้ภัยไม่ได้เป็นประโยชน์กับประชาชนไทย

ธันวาคม 2564 สองปีนับจากมีการประกาศ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้” ในราชกิจจานุเบกษา ไทยก็ยังไม่เคยนำระเบียบฯดังกล่าวมาใช้ในทางปฏิบัติเลยสักครั้ง

หลังจากบังคับส่งผู้ลี้ภัยทางการเมืองหญิงชายกัมพูชา 4 คนกลับไปสู่การภัยอันตรายที่พวกเขาหนีมาในเดือนพฤศจิกายน ล่าสุด เจ้าหน้าที่ยังได้จับกุมพระ Bor Bet พระนักกิจกรรมชาวกัมพูชาที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ขอลี้ภัยกับ UNHCR และบังคับจับสึก 

แม้ทางการไทยจะพยายามยืนยันว่านี่คือการปฏิบัติตาม “กฎหมาย” ของประเทศตามปกติ โดยทุกอย่างจะต้องกระทำโดยที่ “ไทยไม่เสียประโยชน์ใด ๆ” 

การจับกุมและบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวกัมพูชาอย่างต่อเนื่องก็ไม่ได้ทำให้ “ประชาชน” ไทยได้ประโยชน์อันใด ขณะที่หากผู้ลี้ภัยทางการเมืองเหล่านี้จะได้หลบภัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย “ประชาชน” ไทยก็ไม่ได้เสียประโยชน์อันใด

ขณะที่การเพิกเฉยไม่ยอมรับว่าประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยหรือผู้ที่ต้องการความคุ้มครองมาขออาศัย ไม่ยอมนำช่องทางทาง “กฎหมาย” ที่มีอยู่แล้วมาใช้เพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้ที่หลบหนีการประหัตประหารจากประเทศตน  ทำให้ไทยถูกจับตามองว่า ทั้งหมดนี้คือ “ปฏิบัติการ” พิเศษอันมีเป้าหมาย และการจับกุมทั้งหมดนั้นไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญในขณะกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร  

สำหรับสังคมโลก รัฐไทยได้ยืนหยัดที่จะละเมิดหลักการ Non-refoulement อันเป็นกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปสู่ดินแดนที่ชีวิตและเสรีภาพจะถูกคุกคาม และกระทำการอันขัดต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และลงโทษหรือการปฏิบัติอื่น ๆ ที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม (CAT) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีอย่างซ้ำซาก  การส่งผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่ซึ่งชีวิตและเสรีภาพของพวกเขาจะถูกคุกคาม คือการแสดงตนว่า ไทยไม่ใส่ใจต่อหลักมนุษยธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงการสนับสนุนทางการเมือง ต่อการปราบปรามสมาชิกพรรคฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชา 

เพื่อนไร้พรมแดนขอเป็นหนึ่งในเสียงที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลไทย ยืนยันถึงวิถีปฏิบัติอันสอดคล้องต่อกฎหมายระหว่างประเทศ แสดงตนถึงความเป็นประเทศอารยะ และแสดงจุดยืนว่าไม่ได้เข้าข้างพรรคการเมืองใดของประเทศเพื่อนบ้าน หากเพียงยึดหลักการอันเป็นที่เคารพในสากลโลก หยุดยั้งการบังคับส่งกลับพระนักกิจกรรมชาวกัมพูชา และรวมถึงผู้ลี้ภัยกัมพูชากับผู้ลี้ภัยจากประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศพม่าที่เข้ามาหลบภัยอยู่เป็นจำนวนมากหลังรัฐประหาร

ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ที่วางกรอบการดำเนินการกรณีที่มีผู้ที่ต้องการความคุ้มครอง ใช้เวลาถึงสองปีแล้วในการวางแนวทางปฏิบัติ เราส่งคนไปสู่ความทุกข์ทรมานมากมายหลายคนเกินไปแล้ว

2 ธันวาคม 2564 

หมายเหตุ : ภาพประกอบจากสำนักข่าว RFA และ www.facebook.com/borbet.org

Related