โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ

โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ

| | Share

โควิดไม่เลือกเชื้อชาติ

นับแต่เดือนมี.ค. 2563 โควิด 19 ได้แพร่ระบาดในประเทศไทยมาหลายระลอก จากคลัสเตอร์แรกสนามมวยกทม. มาถึงแรงงานไทยที่ข้ามแดนกลับพม่ามาสู่พื้นที่ภาคเหนือ แรงงานข้ามชาติสมุทรสาคร ต่อด้วยบ่อนพนันระยอง กระทั่งล่าสุดที่อัตราการติดเชื้อที่กทม.พุ่งสูง และกระจายสู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนร่วมหมื่นต่อวันหลังการประกาศปิดแคมป์คนงานและหลายสถานประกอบการในกทม.และปริมณฑล

ด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตที่ใกล้ถึงร้อยคนต่อวัน ประชาชนอยู่ในภาวะตึงเครียด ขณะที่สมาชิกของสังคมไทยซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกักเก็บอยู่ในแคมป์คนงานกทม.และปริมณฑลกับกลุ่มที่อยู่แถบชายแดนโดยเฉพาะแม่สอด ก็ตกเป็นผู้ติดเชื้อและเสี่ยงสูงด้วยเช่นกัน  

โควิดไม่ได้เลือกจู่โจมกลุ่มเชื้อชาติหรือสัญชาติใด เพียงแต่การแพร่กระจายในชุมชนแรงงานข้ามชาตินั้นย่อมรวดเร็วกว่า ด้วยแรงงานมักไม่มีโอกาสเลือกที่จะมีสภาพความเป็นอยู่ที่ถูกสุขอนามัย หรือเว้นระยะห่างระหว่างกันและกันได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ยิ่งเมื่อเจอภาวะสูญเสียรายได้รวมถึงโกงค่าแรงในช่วงโควิด ห้องพักแรงงานก็ยิ่งแออัดเบียดเสียดไปยิ่งกว่าเดิม

มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดที่ให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติในฐานะกลุ่มเสี่ยงจึงเป็นเรื่องเข้าใจได้  แต่มาตรการที่เลือกปฏิบัติกับแรงงานข้ามชาติโดยอคติ ปราศจากเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ กลับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา 

ที่แม่สอด ในขณะที่โรงเรียนทั้งรัฐและเอกชนไทยปิด ๆ เปิด ๆ ตามสถานการณ์เหมือนเช่นแห่งอื่นทั่วประเทศ ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ migrant school กลับไม่เคยได้รับอนุญาตให้เปิดสอนตามปกติเลยตลอดปีการศึกษา 2563 กระทั่งถึง 2564 ในปัจจุบัน  แม้่ทุกแห่งจะพยายามปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ 44 ข้อกระทรวงศึกษาฯ แล้วก็ตาม

กรณีเช่นนี้ หากจะอ้างว่าเกรงว่าเด็กลูกหลานแรงงานจะสัมผัสผู้ติดเชื้อที่แอบข้ามมาจากพม่า ก็ต้องตั้งคำถามว่า เหตุใดลูกหลานแรงงานที่เข้าเรียนโรงเรียนไทยจึงสามารถไปโรงเรียนได้ (และบางโรงเรียนไทยในแม่สอดก็มีนักเรียนเป็นเด็กข้ามชาติเกือบ 100%) หรือใ นบางช่วงเวลาที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในแม่สอดต่ำมากหรือเป็น 0 เหตุใดต้องปิดเฉพาะโรงเรียนเด็กข้ามชาติเพื่อ “เฝ้าระวัง”​แต่โรงเรียนอื่นเปิดได้

ล่าสุด จำนวนผู้ติดเชื้อแม่สอดพุ่งสูงกว่าพันจนหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นเรียกร้องให้มีการล็อคดาวน์  หากผลก็คือ นอกจากคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานแล้ว ยังมีการประกาศห้ามแรงงานออกนอกบ้านในเวลาสองทุ่มถึงตีสี่ ขณะที่ “ขอความร่วมมือ” คนไทยไม่ออกจากบ้านในช่วงห้าทุ่มถึงตีสี่ นอกจากนี้ ยังมีประกาศระดับพื้นที่ (ฉบับแปลภาษาพม่าดังภาพ) ครอบคลุมถึงการห้ามแรงงานข้ามชาติขับขี่มอเตอร์ไซค์นับแต่นี้เป็นต้นไปด้วย

คำถามก็คือ นี่คือการควบคุมการแพร่ระบาดโดยมองแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือมองว่าเป็นตัวปัญหา ?  ทั้งที่การระบาดล่าสุดเกิดขึ้นทันทีหลังจากคำสั่ง (กึ่ง) ล็อคดาวน์กทม. จึงมีผู้ติดเชื้อเดินทางจากกทม.เข้าสู่พื้นที่เหมือนเช่นที่เกิดในจังหวัดอื่น ๆ  นอกจากนี้ การควบคุมโรคโดยจัดลำดับคนไว้สองชั้น ขณะที่ระบุให้มีการตรวจหาเชื้อผู้ขนส่งสินค้าจากพม่า (ซึ่งกำลังระบาดหนักมาก) เพียงทุก ๆ 14 วันนั้น จะมีประสิทธิภาพอย่างไรหรือ ?

คำสั่งและการเลือกปฏิบัติในนามของความมั่นคง (ซึ่งในปัจจุบันพ่วงเงื่อนไขทางสาธารณสุข) ยังล่วงเลยไปกระทบถึงชีวิตคนชาติพันธุ์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นคนท้องถิ่นเจ้าของพื้นที่ (ย้อนกลับไปเมื่อราวร้อยปีก่อน ดินแดนแถบนี้แทบไม่มีคนไทยอยู่เลย) ดังที่มิตรสหายของเพื่อนไร้พรมแดนมักถ่ายทอดให้ฟัง ถึงการถูกตรวจบัตรทุกรอบที่เผ่านทางแม้จะจำกันได้เพราะบ้านอยู่ตรงนั้นเอง!  และยังเป็นการตรวจที่ผนวกกับเสียงหัวเราะล้อเลียนการพูดไทยด้วยสำเนียงชาติพันธุ์  ตลอดจนถึงยึดสิ่งของต่าง ๆ รวมถึง “หนังสติ๊กยิงนก” อันสวยที่มีติดตัวไว้ในย่าม ก็มี

“ผมโดนเจ้าหน้าที่ขอดูบัตรบ่อยมากเมื่อผ่านด่าน จนตอนนี้ไม่อยากผ่านด่านอะไรเลย บางทีเห็นรถคนที่พูดไทยชัดผ่านด่านแบบง่าย ๆ โดยเจ้าหน้าที่ไม่ตรวจอะไรแล้วก็อิจฉา …..  นี่หรือประเทศไทย ประเทศที่ถูกปลูกฝัง​มาว่าสร้างด้วยเลือดเนื้อของบรรพบุรุษ​ไทย จนลืมกลุ่มชาติพันธุ์​ต่าง ๆ ที่เคยสู้รบอยู่เคียงข้าง​ … .. เกิดมาเป็นคนชาติพันธุ์​ พูดไทยไม่ชัด ทำใจไว้เลย ว่าต้องเป็นผู้ต้องสงสัย​ เพื่อนของผมยังบ่นว่า “ผ่านด่านตรวจเมื่อไหร่ อยากจะติดบัตรบนหน้าผากไว้”

ประเทศไทยกำลังตกอยู่วิกฤตร้ายแรงที่ส่งผลกระทบถึงสมาชิกทุกคนในสังคมแม้มากน้อยต่างกัน  บุคลาการทางการแพทย์กำลังทำงานหนัก ขณะที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างที่จำต้องแก้ไข  แต่วิกฤตเช่นนี้จะคลี่คลายไม่ได้เลยหากเรายังไม่สามารถมองเห็นข้อเท็จจริงที่ว่า เรา ไม่ว่าสัญชาติหรือเชื้อชาติใด ต่างอยู่ร่วมกัน เผชิญปัญหาร่วมกัน และจะต้องต่อสู้เพื่อความปลอดภัยของกันและกันร่วมกันต่อไป

10 ก.ค. 2564

***ติดต่อส่งมอบความช่วยเหลือแก่เพื่อนแรงงานแม่สอดได้ตามประกาศ “เรื่องเล่าหมอชายแดน” ดังภาพข้างล่าง หรือท่านที่อยู่กทม.อาจส่งความช่วยเหลือให้แก่แรงงานกะเหรี่ยง/ไทใหญ่/และชุมชนชาวลัวะเขตทวีวัฒนา โดยติดต่อเพจ “ศาลายาเนี่ยน” หรือโทร 098-254-6263

Related