แม้นว่าเสียงกู่ตะโกนจะต่างภาษา …..

แม้นว่าเสียงกู่ตะโกนจะต่างภาษา …..

| | Share

แม้นว่าเสียงกู่ตะโกนจะต่างภาษา …..

ภาพของเด็กหนุ่มชาวกะยอวัย 17 และ 18 ปี ปาสคูลาร์และฟีดาเย ที่ถูกทุบตีทำร้ายจนเลือดอาบ เหยียดแขนชูสามนิ้ว กู่ตะโกนเจตจำนง ก่อนที่จะถูกยิงประหารกองทัพทหารพม่า ถูกเผยแพร่ไปในโซเชียลมีเดียวอย่างรวดเร็ว

ภาพที่ว่านี้ มีต้นตอมาจากเฟสบุ๊คของหน่วยทหารพม่าที่กระทำการเอง โดยมีข้อความเขียนเบื้องล่างภาพไว้ว่า “นี่คือภาพก่อนที่เราจะส่งกระสุนไปฝังกบาลพวกมัน”

เด็กหนุ่มท้งสองมาจากหมู่บ้านไมล์ที่ 6 รอยต่อระหว่างอำเภอเดมอโซและลอยก่อ รัฐกะเรนนี ชุมชนดังกล่าวเป็นชุมชนชาวกะยังและกะยอ ซึ่งเผชิญกับการกวาดล้างอย่างโหดเหี้ยมจนผู้คนต้องหลบหนีเข้าไปในป่า เขาทั้งสองเป็นเพียงผู้พลัดถิ่น ที่อาสาแอบออกจากป่ากลับมาดูแลทรัพย์สินในหมู่บ้านในวันนั้น วันที่ 9 กันยายน 2564

คนกะเรนนีกล่าวว่า ความโหดเหี้ยมและความกล้าหาญของคนหนุ่มสาวคือสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐกะเรนนีมาหลายทศวรรษแล้ว เพียงแต่มันไม่เคยปรากฎให้เห็นต่อสาธารณะมาก่อน  ทว่า ไม่ว่าอย่างไร ทหารพม่าก็กลับมองไม่เห็นและไม่เข้าใจทั้งความโหดเหี้ยมและความกล้าหาญนี้ จึงได้นำมาโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ก่อนจะลบออกไปเมื่อเป็นข่าว

ขณะที่เราหลายคนสะเทือนใจเรื่องราวของคนหนุ่มสาวกะเรนนี เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงปราบปรามกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊สที่บริเวณแยกดินแดง กรุงเทพฯ ก็ได้ดำเนินอยู่เช่นนี้ต่อเนื่องมาหลายวันแล้ว โดยเมื่อคืนวันที่ 11 กันยายน มีการสลายการชมนุมของเยาวชนที่เพียงต้องการแสดงความไม่พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ ด้วยการวิ่งไล่ยิงตามตรอกซอกซอย ตามติดมายิงทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางขึ้นไปตามที่พักอาศัยของชาวบ้านที่เด็กหนุ่มสาววิ่งขึ้นไปหลบภัย สื่อมวลชนถูกห้ามทำข่าวถ่ายทอดสด มีผู้บาดเจ็บมากมายและจำนวนผู้ถูกจับกุมเมื่อกลางดึกมีมากกว่า 70 คน 

ความสะเทือนใจนั้นไม่มีเส้นพรมแดนกั้นแบ่ง เช่นเดียวกับเรื่องราวของความโหดเหี้ยม ความกล้าหาญ และเสียงกู่ตะโกนที่แม้จะต่างภาษา

12 กันยายน 2564


ภาพประกอบ : cr Phwe Yu Mon ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ Nattaphon Phanphongsanon ในที่นี้ เพื่อนไร้พรมแดนไม่ได้เอาภาพถ่ายจริงของเยาวชนกะเรนนีทั้งสองมาลงไว้

Related