แนวรบด้านตะวันตกที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง (2)

แนวรบด้านตะวันตกที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง (2)

| | Share

แนวรบด้านตะวันตกที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง (2)

การที่กลุ่มต.ช.ด.ซึ่งดูแลผู้ลี้ภัยอยู่ตรงข้ามฐานราท่า ตอนเหนือของแม่สะเรียงใกล้กับรัฐกะเรนนี ได้พาหน่วยสาธารณสุขเข้ามาดูแลสุขภาพชาวบ้านในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน ถือเป็นปฏิบัติการที่น่าชื่นชม 

เพื่อนไร้พรมแดนมีความยินดียิ่ง ที่ได้ทราบจากรายงานของสื่อมวลชน ( 26 พ.ค.) ว่า ได้มีการเข้าจัดระเบียบและระบบสุขาภิบาลในพื้นที่พักของผู้ลี้ภัยเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด 19 และจัดให้ทหารเสนารักษ์เข้าตรวจสุขภาพประชาชนดังภาพประกอบในข่าว 

อย่างไรก็ดี เรายังสอบถามผู้ลี้ภัยไม่พบว่าเป็นการจัดระเบียบในพื้นที่ใด และมีการเข้าไปตรวจสุขภาพให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใด เนื่องจากภาพประกอบข่าวเป็นภาพของชาวบ้านท่าตาฝั่ง

ที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ในวันเดียวกันกับที่ได้รับข่าวดีดังกล่าวนั้น ผู้ลี้ภัยที่อยู่ริมฝั่งน้ำตรงข้ามราท่า ก็ได้เดินทางข้ามสาละวินกลับไป หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามา “ทำความเข้าใจ” ให้กลับ และระบุว่าทหารจะอยู่ประจำริมฝั่งแทนต.ช.ด.  พื้นที่ดังกล่าวจึงเหลือเพียงกลุ่มผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเรนนีที่อยู่ถัดออกไปบริเวณใกล้หมู่บ้าน ซึ่งมีฐานต.ช.ด.ใกล้ ๆ 

ชาวบ้านที่เดินทางกลับไปล้วนอยู่ในความวิตกกังวล เนื่องจากชุมชนและที่ทำกินของพวกเขาอยู่ไม่ไกลจากฐานทัพพม่าที่ KNLA ยึดได้ และตกเป็นเป้าการโจมตีทางอากาศอย่างหนักมาก่อน  นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า กองทัพพม่ากำลังระดมกำลังใกล้เคียงจากทุกหน่วย จึงอาจมีหน่วยทหารจากตอนใต้ของรัฐกะเรนนีเดินเท้าเข้ามาผ่านบริเวณที่พวกเขาอยู่อาศัยและทำกินได้

ผู้นำชุมชนคนหนึ่งกล่าวว่า การโจมตีทางอากาศและการยิงปืนใหญ่นั้นน่ากลัวมากก็จริง แต่ที่พวกเขากลัวที่สุด คือทหารซึ่งเดินเท้าเข้ามาปล้นสะดม บังคับให้แบกของ จับกุม ทำร้าย ทรมาน และสังหารพลเรือนอย่างเหี้ยมโหด ดังที่เคยพบเจอในอดีต 

หลังจาก 1 พ.ค. เป็นต้นมา ยังไม่มีการโจมตีทางอากาศในมื่อตรอ ทว่า เฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินรบ และโดรนสอดแนมยังบินอยู่เป็นปกติในหลาย จุด มีการส่งกำลังพลและอาวุธสำหรับกองทัพพม่าเข้ามาเพิ่มในพื้นที่ กองกำลังพิทักษ์ชายแดน BGF ที่มีข่าวว่าถูกเกณฑ์ไปสมทบกับกองทัพพม่า มีการเรียกเกณฑ์ทหารเพิ่มโดยเสนอเงินเดือนค่อนข้างสูง  เพียงระหว่าง 5-26 พ.ค. มีการยิงปืนใหญ่เข้าชุมชนและพื้นที่ทำกิน 98 ลูก และการปะทะกันระหว่างกองทัพพม่าและ KNLA ถึง 193 ครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตทหารและพลเรือนไร้อาวุธ  ชาวบ้านหลายชุมชนต้องทิ้งที่ทำกิน และสูญเสียทรัพย์สินให้แก่กองทัพพม่าที่เข้ามาในชุมชนร้าง

การส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมยังคงเป็นเรื่องต้องหลบซ่อนหรือมีดีลพิเศษอยู่ไม่มีเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผลการประชุมคณะทำงาน ฯ ระดับจังหวัดเมื่อ 21 พ.ค.ระบุให้มีการส่งแผนความช่วยเหลือเพื่อรอผลประชุมอนุมัติในวันที่ 1 มิ.ย.  

กว่าจะถึงวันนั้น ก็ไม่แน่ว่าจะมีผู้ลี้ภัยที่ต้อง “ทำความเข้าใจ” กับสถานการณ์ท่ีตนจะต้องเดินทางกลับไปเสี่ยงภัยในบ้านเกิดอีกกี่คน และคงเหลือบนแผ่นดินไทยอยู่กี่คน 

29 พ.ค. 2564

ภาพประกอบ : ชาวบ้านราท่าบนแผ่นดินไทยก่อนกลับ และปฏิบัติการของตชด.ที่พาอาสาสมัครสาธารณสุขเข้ามาดูแล ถ่ายโดย ชาวบ้านสาละวิน

Related