เรื่องเล่าของอาพี (คุณยาย) “ผู้หนีภัยความรุนแรงของทหารพม่า” 

เรื่องเล่าของอาพี (คุณยาย) “ผู้หนีภัยความรุนแรงของทหารพม่า” 

| | Share

บันทึกประจำวัน 
เรื่องเล่าของอาพี (คุณยาย) “ผู้หนีภัยความรุนแรงของทหารพม่า” 

ผมไปชายแดนกับครอบครัวเหมือนทุกครั้ง แต่ครั้งนี้มีพี่นักศึกษาจากเชียงใหม่ร่วมเดินทางด้วย โมบอกผมว่า พี่ ๆ ยังไม่เคยมาพื้นที่ชายแดนมาก่อน  ตลอดทางบนรถพวกพี่ ๆ ถามอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับ “ผู้ลี้ภัย” และ “ค่ายผู้ลี้ภัย” 

เราเดินทางมาถึงที่หมาย  พี่ ๆ นักศึกษาประหลาดใจเมื่อพบว่าที่ชุมชนชายแดนไม่ได้มีรั้วลวดหนาม ไม่มีค่ายผู้ลี้ภัย ไม่มีเพิงพักอย่างที่เคยเห็นในข่าวหรือสารคดี 

เราจอดรถและเดินมาที่บ้านหลังหนึ่งเพื่อคุยกับอาพีกับหลานสาวอายุ 5 ขวบ อาพีพาหลานมาอยู่กับญาติที่นี่ เพราะอยากให้หลานเข้าโรงเรียน  โรงเรียนในหมู่บ้านเดิมเปิดเรียนไม่ได้  อาพีเล่าอะไรหลายอย่าง  ที่ผมสนใจคืออาพีเกิดและโตที่เมืองพะสิม เมืองท่าที่ติดทะเลอันดามัน มีหาดทรายขาว และกุ้งมังกรตัวใหญ่  ผมจำได้ดีเพราะครอบครัวเราเคยไปงานแต่งงานของพะตีพี่ชายของปาปาที่อยู่เมืองพะสิม  เราออกเดินทางจากแม่สอดราว ๆ เจ็ดหรือแปดโมงตอนเช้าและถึงพะสิมตอนตีสองของอีกวัน 

อาพีเล่าว่าต้องออกจากบ้านที่เมืองพะสิมเพราะที่ดินของชุมชนถูกนำไปสร้างนิคมอุตสาหกรรม  อาพีจึงย้ายมารับจ้างอยู่แถว ๆ เมืองผาลูในรัฐกะเหรี่ยงได้สองปีกว่าแล้ว  แต่ตอนนี้ผาลูกลายเป็นพื้นที่สู้รบ  อาพีและน้องจึงต้องมาขออาศัยอยู่ที่นี่  พี่นักศึกษาถามโมว่า อาพีเป็นผู้ลี้ภัยใช่ไหม โมตอบกลับไปว่า “เราต้องให้อาพีอธิบายเอง เราไม่สามารถตอบแทนอาพีได้” 

อาพีเรียกตัวเองว่า “ผู้ประสบภัยจากความรุนแรงของทหารพม่า” อาพีไม่เรียกตัวเองว่าผู้ลี้ภัย เพราะอาพีไม่ได้อยากหาที่อยู่ใหม่อย่างถาวร  อาพีต้องการที่อยู่ปลอดภัยชั่วคราว และยังอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองผาลู 

ยังมีอีกหลายคำที่ผมได้ยินจากที่พูดคุยกัน “ผู้ลี้ภัย” “ผู้หนีภัยสงคราม” “ผู้หนีความรุนแรงของทหารพม่า” รวมถึง “ผู้ประสบภัยจากความรุนแรงของทหารพม่า” ผมว่าทุกคำหมายถึงคนที่มีชีวิตไม่ปลอดภัย ต้องการความช่วยเหลือ และต้องการที่พักปลอดภัย  

ผมได้คุยกับน้อง (หลานสาวของอาพี) เราสองคนยังจำวันที่เครื่องบินรบบินเหนือหมู่บ้านได้  เสียงเครื่องบิน เสียงระเบิด เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เรารู้สึกกลัว  สถานการณ์ปะทะกันในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงไม่ห่างจากชายแดนไทยยังเกิดขึ้นทุกวัน  เสียงระเบิดคือเรื่องจริง ภาพเครื่องบินรบที่บินเหนือหมู่บ้านคือเรื่องจริง เด็กนักเรียนที่วิ่งเข้าหลุมหลบภัยคือเรื่องจริง และความกลัวที่ยังมีอยู่ในใจคือเรื่องจริง

ด.ช. โปโป 

วันอาทิตย์ ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2565
ภาพประกอบโดยครอบครัวโปโป

Related