เริ่มต้นกันใหม่ได้หรือยัง

เริ่มต้นกันใหม่ได้หรือยัง

| | Share

เริ่มต้นกันใหม่ได้หรือยัง

นับแต่ธันวาคมเป็นต้นมา กองทัพพม่าปฏิบัติการโจมตีทางอากาศถี่ไม่เว้นแต่ละวันตลอดแนวชายแดน นับตั้งแต่จังหวัดดูปลายา-พื้นที่รัฐกะเหรี่ยงฝั่งตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก ไปจนถึงมื่อตรอ ฝั่งตรงข้ามอ.แม่สะเรียงและสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน และรัฐกะเรนนี ฝั่งตรงข้ามอ.เมือง แม่ฮ่องสอน

ปฏิบัติการมักเกิดขึ้นยามค่ำคืน นั่นหมายความว่าเมื่อเริ่มมีเครื่องบินวนเหนือหัว ไม่ว่าจะทิ้งระเบิดหรือกราดยิงในวันนั้นหรือไม่ก็ตาม ชาวบ้านในหมู่บ้านหรือที่หลบอยู่ในป่าก็ต้องวิ่งหาชะโงกหินผา ถ้ำ หรือหลุมหลบภัยที่ขุดเตรียมไว้เสียก่อน นอกจากความสูญเสียต่อทรัพย์สินและชีวิต จึงยังมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คนอย่างใหญ่หลวง

ล่าสุด คืนวาน เวลาตีหนึ่ง กองทัพพม่าโจมตีบ้านต้าเดว่โค่ อ.เดว่โล จ.มื่อตรอ ส่งผลให้มีพลเรือนหญิงชายเสียชีวิตทันที 2 รายและบาดเจ็บ 6 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กชายวัย 7 ขวบตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งกับเด็กชายวัยรุ่นอายุ 16 ปีซึ่งบาดเจ็บสาหัสอีกคนหนึ่ง

เดว่โล เป็นพื้นที่ตั้งของเมืองผาปูน โดยรอบมีฐานทัพพม่าและกองกำลัง BGF ซึ่งเข้ามาเสริมกับกองทัพพม่าอยู่ชุกชุม ที่นี่มีการปะทะสูงสุด มีกับระเบิดทั่วบริเวณ และมีปฏิบัติการยิงปืนใหญ่เข้าหมู่บ้านไร่นากับการโจมตีทางอากาศไม่เว้นแต่ละวัน เมื่อไม่กี่วันก่อน การยิงปืนใหญ่เข้าใส่หมู่บ้าน 2 แห่งก่อให้เกิดความเสียหายของทรัพย์สิน สัตว์เลี้ยง มีผู้บาดเจ็บ 7 คนรวมหญิงชราวัย 78 ปี และผู้เสียชีวิตอีก 2 คน รวมเด็กทารกอายุ 3 เดือน

ประเทศไทยตั้งอยู่ติดกับแผ่นดินที่กองทัพของรัฐบาลทหารก่ออาชญากรรมสงครามด้วยการสู้รบอัน “พุ่งเป้าไปที่พลเรือนไร้อาวุธ” การอพยพลี้ภัยเข้าสู่ประเทศจึงคือ “ความจริง” ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคนหนีจะไม่อยากหนี และคนรับจะไม่อยากรับก็ตาม 

ประสบการณ์หนึ่งปีหลังรัฐประหารพม่าบอกเราชัดเจนแล้วว่า การรับผู้ลี้ภัยจะใช้เพียงแผน “เผชิญเหตุ” ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า เหตุด่วนเหตุร้ายจะเกิดขึ้นนาน ๆ ที และเกิดทีละไม่นานนั้นคงไม่เพียงพอ หากไม่หลอกตัวเองจนเกินไป เราย่อมรู้ว่า เหตุนี้ได้อยู่กับเรามานานเกินปี และจะอยู่ต่อไปนานเท่าไรยังไม่มีใครรู้ 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา การอพยพลี้ภัยเป็นความจำเป็นของผู้คนมากขึ้น กว้างขวางขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น นโยบายการรับผู้ลี้ภัยใหม่จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “การจัดการดูแล” ให้มากขึ้น แทนที่จะมองเป็นเหตุเฉพาะกิจที่ไม่ต้องมีรายละเอียด เพียงตั้งเป้าให้จบให้เร็วที่สุด ความสำเร็จของการรับมือกับการอพยพลี้ภัยควรจะคือความมั่นคงทางสาธารณสุขและสังคมในระยะยาว ไม่ใช่สำเร็จที่ผลักดันกลับได้แล้วคือจบ

ที่ผ่านมา ประชาชนไทยไม่ได้เรียกร้องให้รัฐลงมือจัดการเรื่องราวที่ซับซ้อนเหล่านี้โดยลำพัง ภาคประชาสังคมหลายกลุ่มที่มีประสบการณ์กับประเด็นปัญหาชายแดนและงานมนุษยธรรมมีความพยายามที่จะเสนอความคิดเห็นและข้อมูลที่เป็นประโยชน์เสมอมา น่าเสียดายที่ปฏิกิริยาจากภาครัฐมักออกมาในรูปการปกป้องการตัดสินใจและวิธีการเดิม ๆ ของตนมากกว่าจะรับฟังสิ่งใหม่ ๆ 

การอพยพลี้ภัยเกิดจากการที่รัฐบาลทหารพม่ามองประชาชนตนเป็นศัตรู แล้วเราจะรับมือกับสถานการณ์นี้ได้อย่างไรหากรัฐไทยจะมองประชาชนแบบเดียวกัน 2565 น่าจะถึงเวลาเริ่มต้นใหม่กันได้แล้ว

5 กุมภาพันธ์ 2565

ภาพประกอบ : บ้านชาวบ้านถูกระเบิดลงกลายเป็นไฟเผาผลาญ โดย ชาวบ้านสาละวิน 

หมายเหตุ : ยังมีภาพของความสูญเสียอีกมาก รวมถึงภาพฝูงไก่และหมาเลี้ยงที่นอนตายเกลื่อน ซึ่งเราตัดสินใจไม่นำมาเผยแพร่

Related