เราจะมีชีวิตรอด : การต่อต้านกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐกะเรนนี

เราจะมีชีวิตรอด : การต่อต้านกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐกะเรนนี

| | Share

เราจะมีชีวิตรอด : การต่อต้านกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐกะเรนนี

“ดอเนียะกู่ ดอตาเมียะ ดอตะมะจี ไม่เหลือแล้ว” คือบทสนทนาของฉันกับหญิงสาวกะเรนนีสองคนในวันสงกรานต์ ชื่อทั้งสามนั้นคือชื่อของโรงเรียน IDP (ผู้พลัดถิ่นในประเทศ) ที่เป็นตัวอย่างอันน่าชื่นชมสำหรับการยืนหยัดจัดการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน 

“โรงเรียนกับบ้านชาวบ้านในดอตะมะจีถูกเผาหมด สำนักงานการศึกษาก็ถูกเผาไปด้วย” หนึ่งในสองกล่าวด้วยเสียงเรียบ ๆ 

ดอตะมะจี เป็นชุมชน IDP ที่จัดตั้งขึ้นโดยชาวบ้านจากหลายหมู่บ้าน รวมประชากรราว 2 พันคน มีนักเรียนในโรงเรียนกว่า 400 คน โรงเรียนอีกสองแห่งมีนักเรียนรวมร่วมพัน และประชากรชุมชนรวมราวสามพัน 

มีนาคม 2566 กองทัพพม่าระดมกำลังพล ปืนใหญ่ และการโจมตีทางอากาศเพื่อยึดครองพื้นที่ด้านตะวันออกของเดโมโซได้จนสำเร็จ 

“เหลือคนกะเรนนีในเดโมโซไม่มากแล้ว พวกเขาต้องหนี เพราะไม่มีใครอยู่ได้ในการควบคุมของกองทัพพม่า” 

รัฐกะเรนนีเป็นรัฐเล็ก ๆ ที่มีผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดคือชาวกะยา และยังมีกะยอ กะยาน ปะโอ ปะกู (ปกาเกอะญอ) ไต และอื่น ๆ ประชากรทั้งหมดในรัฐประมาณกว่าสามแสนคน ปัจจุบันพลัดถิ่นไปแล้วเกินสองแสนคน  การสู้รบกระจายเกือบทั่วทั้งรัฐกะเรนนีและเลยขึ้นไปทางอำเภอเปก๋อน ตอนใต้รัฐฉานที่ติดตอนเหนือกะเรนนี ซึ่งต้นเดือนมีนาคม (11-12) กองทัพพม่าสังหารหมู่ชาวบ้านไป 25 คนรวมพระสงฆ์ 3 รูปในเขตวัด และเด็กชายวัย 15 ปี กับคนชรา 2 คนในค่ายพักคนพลัดถิ่น

การทำลายล้างชุมชนในรัฐเล็ก ๆ  คือรูปแบบหนึ่งของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ชาวบ้านไม่เพียงล้มตายด้วยอาวุธสงคราม หากด้วยการขาดแคลนอาหาร สุขลักษณะที่ดี การเจ็บไข้ การเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล การใช้ชีวิตด้วยความหวาดวิตก และขาดโอกาสทางการศึกษา แต่ภาคประชาสังคมกะเรนนีก็ไม่ได้ยอมแพ้” พวกเขาพยายามจัดขบวนการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม  ทีมสุขภาพเคลื่อนที่ และจัดการศึกษาได้ทุกหนทุกแห่ง  แม้ว่าบุคลากรทั้งหมดจะตกอยู่ในความเสี่ยง ดังล่าสุดมีพยาบาลสองคนเสียชีวิตจากการโจมตีที่เดโมโซขณะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้พลัดถิ่น

เมษายน ชาวบ้านหนีกระจัดกระจายไปทุกหนแห่ง ทั้งเข้าเขตลอยก่อ หนีลึกเข้าไปทางตะวันตก หนีมาหลบภัยในป่าแถบริมน้ำรอเดินทางต่อไปทางตะวันออก และที่มากที่สุดก็คือ ข้ามน้ำและมุ่งหน้ามาตามเส้นทางที่พระอาทิตย์ขึ้น – ชายแดนไทย 

ชาวบ้านจำนวนกว่าพันเดินทางมาถึงค่ายผู้พลัดถิ่นดอโน่กู่ในฝั่งรัฐกะเรนนีติดชายแดนไทย  ดอโน่กู่ซึ่งเกิดขึ้นหลังรัฐประหารเพื่อรองรับผู้พลัดถิ่นที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าลี้ภัยในประเทศไทย แต่เดิมเคยแบ่งเป็น 3 หมู่ (เซ็คชั่น) ได้ถูกขยายขึ้นเป็น 7 หมู่เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มสูงถึงราวห้าพันคน  ไม้ไผ่ในพื้นที่ไม่เพียงพอ แหล่งน้ำอยู่ไกลและไม่พอใช้ในหน้าแล้ง  ที่สำคัญ ทางการไทยได้สั่งปิดถนอันเป็นเส้นทางขนส่งความช่วยเหลือหลักมาได้เกือบเดือนแล้ว โดยให้เหตุผลด้าน “ความปลอดภัย”

“เราคิดว่ามันเกี่ยวเนื่องกับการสู้รบหนัก ทหาร KNPP ยึดฐานทัพพม่าใหญ่ที่สบแม่สุรินได้ แล้วกองทัพพม่าก็ส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดใกล้ ๆ ชายแดน มีกระสุนปืนใหญ่ตกเข้ามาในฝั่งไทย ที่ไหนไม่รู้แต่ไม่ใช่ตรงนี้” แม้หญิงสาวทั้งสองจะไม่สามารถเข้าใจได้ชัดเจนว่า การปิดด่านข้ามพรมแดนจะเกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยไม่ให้มีอาวุธหนักตกลงมาอย่างไร เธอก็รู้ว่า การปิดเส้นทางดังกล่าวทำให้ค่ายพักดอโน่กู่ที่มีคนเพิ่มมาล้นหลามขาดแคลนอาหารอย่างหนัก โดยเฉพาะข้าว 

“ในฤดูแล้ง ชาวบ้านปลูกผักไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ อาหารในป่าก็ไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนในฤดูฝน ดังนั้น ข่าวในวันสงกรานต์ที่ว่า  ทางการไทยจะยินยอมเปิดทางให้ขนส่งอาหารเข้าไปให้ดอโน่กู่แล้ว  เราจึงดีใจมาก”

“ฉันคิดว่าความช่วยเหลือจะรีบเดินทางเข้าไป และเราจะมีชีวิตรอด”​ การต่อสู้เพื่อมีชีวิตรอดของชาวบ้าน คือการต่อต้านปฏิบัติการของกองทัพพม่าที่มุ่งทำลายชีวิตอย่างตรงประเด็นที่สุด 

เด็ก ๆ ที่เดินทางมาถึงดอโน่กู่กำลังเข้าร่วมกิจกรรมภาคฤดูร้อน พวกเขาจะเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง ไม่ต่าง หรือมากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า

14 เมษายน 2566
ภาพประกอบ ผู้พลัดถิ่นกะเรนนี 2566 โดยสำหรับข่าว Kantarawaddy

Related