เมื่อเรากล่าวถึงสิทธิมนุษยชน

เมื่อเรากล่าวถึงสิทธิมนุษยชน

| | Share

เมื่อเรากล่าวถึงสิทธิมนุษยชน

“… จากการปฎิบัติงานพบว่า ผู้หลบหนีภัยจากการสู้รบความไม่สงบชาวเมียนมา (ผภสม.) ได้มาหลบภัยอยู่บริเวณแนวชายแดนฝั่งตรงข้าม …… ประมาณ 150 คนโดยไม่มีการหนีข้ามแดนมายังฝั่งไทย ซึ่งฝ่ายไทยได้ประสานงานกับ…..เพื่อป้องปราม-ควบคุมไม่ให้อพยพหลบหนีมายังฝั่งประเทศไทย” (จากรายงานข่าว Mae Sot Media 15 มี.ค. 2565)

ปฏิบัติการของหน่วยความมั่นคงตามแนวชายแดน เป็นไปตามนโยบายรัฐที่ประกาศชัดเจนว่า จะไม่รับผู้ลี้ภัยจนกว่าภัยความตายจะมาถึงเส้นพรมแดน ซึ่งหากจำเป็นจะต้องให้เข้ามา ก็ต้องผลักดันกลับไปโดยเร็วที่สุดเท่าที่ทำได้ไม่ให้ยืดเยื้อ 

กลางเดือนมีนาคม 2565 สงครามระหว่างกองทัพพม่ากับกองกำลังชาติพันธุ์ และกับกลุ่มประชาชนติดอาวุธ โดยมีพลเรือนไร้อาวุธตกเป็นตัวประกันและเป้าการโจมตี เกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนีติดชายแดนไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ในช่วงระหว่าง 14-17 มี.ค. ผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งข้ามมายัง อ.อุ้มผางและ “กลับ” ไปในเวลาอันสั้น ขณะที่อีก 82 คนก็ข้ามหนีมายังอีกจุดหนึ่งของอำเภอในวันถัดมา ..

เหล่านี้ ล้วนคือเสียงอันอื้ออึงที่แผ่วเบาเป็นอย่างยิ่ง ในสื่อส่วนกลางและสังคมทั่วไป

ทว่า เสียงที่ดังกว้างไกลกว่าในสื่อส่วนกลางในกลางเดือนมีนาคม คือรายงานข่าวเศรษฐกิจถึงการที่ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) กำลังจะ “ขึ้นแท่น” ผู้ดำเนินโครงการก๊าซยาดานา จากอ่าวเมาะตะมะ ของประเทศพม่า ถือหุ้นใหญ่ถึง 37.1% ของทั้งหมด หลังจากที่บริษัท TotalEnergies (ฝรั่งเศส) ประกาศถอนตัวไปด้วยเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันกว้างขวางในประเทศพม่า (Unocal ของสหรัฐฯ ยังถือหุ้นใหญ่ที่สุดคือ 41.1%) 

โครงการยาดานาผลิตก๊าซได้ถึง 770 ล้านคิวบิคต่อวัน โดยส่งมายังไทย 550 ล้านคิวบิค ถือเป็น 11% ของความต้องการของประเทศ 

ยาดานา ถือเป็นแหล่งรายได้นอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพพม่า ซึ่งกำลังทุ่มงบประมาณชาติไปกับการซื้ออาวุธ รวมถึงน้ำมันเครื่องบิน เพื่อสู้รบกับประชาชน และส่งผู้ลี้ภัยข้ามพรมแดนมาแสวงหาความคุ้มครองและความปลอดภัยในบ้านเรา

ทั้งนี้ แถลงข่าวบนเว็บไซท์ปตท.ชี้ว่า “บริษัทมีความตระหนักว่าการเข้าถึงพลังงานอย่างเสมอภาคถือเป็นสิทธิมนุษยชน”

18 มีนาคม 2565ฟ

Related