เปิดโรงเรียน 

เปิดโรงเรียน 

| | Share

เปิดโรงเรียน 

สัปดาห์ที่ผ่านมา บนฟีดของเราหลายคนปรากฏภาพเด็ก ๆ ยิ้มสดใสกับการได้ไปโรงเรียน (เสียที)  ตลอดสองปีนี้ โรงเรียนเด็กไทยปิด ๆ เปิด ๆ บางแห่งบางจังหวัดปิดยาว และบ่อยกว่าบางแห่ง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เบื่อการเรียนและสอบออนไลน์เต็มทน ภาพเด็กยิ้มแฉ่งกับการเปิดเทอมจึงเหมือนกับการเปิดเทอมชีวิตเฟสใหม่ของผู้ใหญ่ไปด้วย

แต่โรงเรียนเด็กข้ามชาติ (migrant school) 66 แห่งในชายแดนจ.ตากนั้นกำลังรอคำอนุญาตให้เปิดเทอมอยู่  นับแต่เดือนมี.ค. 63 ที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ชีวิตของเด็ก ๆ กว่าเก้าพันคนก็ยังไม่เคยกลับคืนสู่ภาวะปกติ ในขณะที่โรงเรียนไทยในพื้นที่ได้เปิด on site บ้าง online บ้าง โรงเรียนเด็กข้ามชาติที่นี่ก็ไม่เคยได้รับอนุญาตให้เปิด on site เลย และเป็นเช่นนี้ยืนยาวมาตลอด 2 ปีการศึกษา 

โรงเรียนเด็กข้ามชาติ ซึ่งมีสถานะตามระบบการศึกษาไทยเป็นเพียง “ศูนย์การเรียน” ในความดูแลของศูนย์ประสานงานการจัดการศึกษาเด็กต่างด้าว สพป. ตาก (เขต 2) แต่ละแห่งก่อตั้งขึ้นโดยครูคนอพยพข้ามชาติ มีทั้งที่จัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล ประถม ม.ต้น และบางแห่งก็มีถึงม.ปลาย ปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้หลักสูตรกระทรวงศึกษาฯพม่า เพื่อให้เด็กสามารถกลับไปสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัยในพม่าได้ แต่บางแห่งก็จัดการสอนตามหลักสูตรสำนักงานการศึกษาและวัฒธรรมกะเหรี่ยง หรือเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเพื่อเตรียมสอบ GED (หลักสูตรกศน.อเมริกัน) อันจะเปิดเส้นทางให้ขอทุนการศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยนานาชาติได้ คุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเหล่านี้บางแห่งจัดว่าอยู่ในระดับสูงมาก

อย่างไรก็ดี สองปีที่ผ่านมานี้ การจัดการศึกษาแบบ home-based learning และ online ก็ไม่สามารถทดแทนการเรียนการสอนภาคปกติได้ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าเด็กแต่ละโรงเรียนไม่ได้มาจากชุมชนเดียวกัน การไปเยี่ยมชุมชนเพื่อแจกงานแจกการบ้านแทบไม่ได้ผลอะไรกับเด็กเล็ก และการจะคาดหวังให้ครอบครัวที่แทบจะไม่สามารถจ่ายค่าเทอมลูกได้อยู่แล้ว (โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจและการตกงานจากโควิด 19) จัดหาอุปกรณ์หรือจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตก็เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ 

การไม่ได้ไปโรงเรียนสองปี ประกอบกับสถานการณ์การเมืองพม่าที่ทำให้แน่ชัดว่าโอกาสจะไปเรียนต่อคงไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ทำให้เด็กข้ามชาติหลายคนล้มเลิกการใช้ชีวิตแบบเด็ก บางคนเลิกเรียนและหันไปเข้าสู่ตลาดแรงงานทั้งที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ เด็กเล็กถึงสิบขวบถูกกระเตงให้ไปช่วยพ่อแม่ทำงานในไซท์ก่อสร้างเพราะการทิ้งไว้ที่บ้านตามลำพังก็เสี่ยงกับการถูกละเมิด และเด็กที่เพิ่งย่างเข้าวัยรุ่นบางคนก็ละทิ้งความฝันเดิม ตัดสินใจแต่งงานมีครอบครัวและใช้ชีวิตเป็นผู้ใหญ่

สองปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นฝันร้ายของโรงเรียนเด็กข้ามชาติเช่นกัน แต่ละแห่งประสบปัญหากับทุนดำเนินการอย่างหนัก แหล่งทุนบริจาคจำนวนไม่น้อยลดเงินช่วยเหลือหรือกระทั่งยกเลิกเมื่อเห็นว่าโรงเรียนไม่ได้เปิด on site แม้ในความเป็นจริงแล้วครูก็ยังต้องทำงาน (และอาจจะมีงานหนักกว่าเดิม)  ขณะที่โรงเรียนก็ยังต้องได้รับการดูแลให้สะอาดพร้อมเปิดได้เสมอ 

มิถุนายน 2565 นี้ โรงเรียนและเด็ก ๆ ข้ามชาติในแม่สอดกำลังหวังว่าพวกเขาจะได้เปิดเรียน onsite  และผู้ใหญ่ก็จะได้เปิดเทอมเฟสใหม่ของชีวิตเช่นเดียวกับคนไทย โดยเฉพาะเมื่อได้รับทราบว่าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับอนุญาตให้เปิดได้ลดจาก 44 ข้อเหลือเพียง 20 ข้อแล้ว 

การที่เด็กคนอพยพข้ามชาติขาดโอกาสทางการศึกษามาตลอด 2 ปี ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อชุมชนคนข้ามชาติ หากยังกระทบต่อสังคมไทยอย่างหนักหนาสาหัสไม่ต่างกับเด็กไทย 

เพราะเราคือมนุษย์ที่อยู่ร่วมกัน

21 พฤษภาคม 2565

หมายเหตุ เพื่อนไร้พรมแดนกำลังระดมทุนจัดหาโต๊ะและเก้าอี้ทั้งมือหนึ่งและมือสองภาพดีให้แก่โรงเรียนช่าทูเหล่ ซึ่งจัดการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาลถึงมัธยมปลาย และมีแผนจะรับนักเรียนให้ได้ราว 800 คน เพื่อรองรับจำนวนเด็กข้ามชาติที่เพิ่มขึ้นในแม่สอด การปิด on site สองปีทำให้โต๊ะเก้าอี้ที่เก่ามากแล้วผุพังไปมาก ผู้สนใจบริจาคเป็นสิ่งของ (ตัวโต๊ะ-เก้าอี้) กรุณาติดต่อทาง inbox facebook.com/fwbfoundation / Email : bordervoices2010@gmail.com

ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โรงเรียนเด็กข้ามชาติขนาดเล็กมักไม่สามารถผ่านการประเมินเกณฑ์ความปลอดภัยฯ 44 ข้อของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้  แต่แม้โรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์ได้สำเร็จก็ยังพลาดโอกาสเปิดในที่สุด เนื่องจากกว่าจะประเมินกันได้ สถานการณ์โควิด 19 ก็ย้อนกลับมารุนแรงขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าโรงเรียนไทยในจังหวัดจะได้รับอนุญาตให้เปิด on site บ้าง online บ้างก็ตาม

Related