สิทธิในการกำหนดมนุษยธรรม

สิทธิในการกำหนดมนุษยธรรม

| | Share

สิทธิในการกำหนดมนุษยธรรม

หลังรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 คาดประมาณได้ว่า มีผู้ลี้ภัยฉิ่น (Chin) รวมทั้งชาวพม่าที่เข้าร่วมขบวนอารยะขัดขืน (CDM) หลบหนีการประหัตประหารเข้าสู่รัฐมิโซราม (Mizoram) ประเทศอินเดีย มากกว่า 50,000 คน (Chin Human Rights Organization, ส.ค. 2565)

รัฐฉิ่นอยู่บนฝั่งตะวันตกของพม่าติดชายแดนอินเดีย สถานการณ์ที่นั่นไม่ต่างจากรัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนีบนชายแดนไทย ในบางขณะก็โหดเหี้ยมรุนแรงยิ่งกว่า  อำเภอตั้นลางในรัฐฉิ่นถูกกองทัพพม่าจุดไฟเผาไปแล้วเกือบ 30 รอบ บ้านเรือนมอดไหม้กว่า 1,500 หลังคา  หากผู้ลี้ภัยฉิ่นที่หนีมาถึงขอบแดนและเข้าสู่อินเดียได้นั้น ถือว่ามีชะตากรรมที่ดีกว่าผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยงและกะเรนนีมาก 

อันที่จริงรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้ต่างกับไทย ตรงที่ต้องการรักษาสัมพันธ์กับกองทัพพม่าเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงชายแดน อินเดียมีพรมแดนติดต่อกับพม่ายาวกว่า 1,600 กม. อีกทั้งยังต้องคอยสะกัดไม่ให้จีนมีอิทธิพลเหนือพม่าไปมากกว่าที่เป็นอยู่  หลังรัฐประหาร รัฐบาลแถลงว่า ด้วยเหตุที่อินเดียไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 (เหมือนกับไทย) ผู้ลี้ภัยเหล่านี้จึงจะไม่ได้รับรองสถานะ  ไม่มีสิทธิเข้าถึงความคุ้มครองช่วยเหลือระหว่างประเทศ และ UNHCR ที่กรุงเดลลีก็จะไม่เข้าไปมีบทบาทใด ๆ  รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน (เหมือนมหาดไทย) ถึงกับประกาศว่า รัฐชายแดนจะต้องป้องกันการอพยพเข้าเมือง และต้องตรวจตราจับกุมเพื่อผลักดันบุคคลเหล่านี้กลับสู่พม่า

อย่างไรก็ดี รัฐบาลมิโซราม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาสังคมมิโซ กลับทำหนังสือแจ้งกลับต่อรัฐบาลกลางว่า “เป็นไปไม่ได้ที่เราจะเพิกเฉยต่อพี่น้องของเราที่หนีตายมาจากประเทศพม่า”  

ชาวฉิ่นและมิโซนั้นเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน นับถือศาสนาคริสต์เช่นกัน และมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาก่อนที่อาณาเขตจะถูกเส้นพรมแดนวาดแบ่งออกเป็นสองฝั่งหลังอินเดีย-พม่าประกาศเอกราช  โดยการข้ามพรมแดนไปมาหาสู่ ทำงาน ค้าขาย แต่งงาน และความสัมพันธ์เครือญาติข้ามพรมแดน ซึ่งเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับคนกะเหรี่ยง-กะเรนนีบนสองฝั่งชายแดนไทย-พม่านั้น ได้รับการยอมรับตามกฎหมายอย่างเป็นทางการแล้ว (ไม่ใช่เพียงผ่อนปรน) จากประกาศระบบการเคลื่อนย้ายเสรี (Free Movement Regime) ในปี 2561 ชาวบ้านสองฝั่งสามารถข้ามแดนได้อย่างอิสระภายในรัศมี 16 ก.ม.จากชายแดน และอยู่ได้ถึง 14 วันโดยไม่ต้องผ่านระบบตรวจคนเข้าเมืองอินเดีย

สาเหตุที่ชาวมิโซสามารถกำหนดมนุษยธรรมของตนได้เช่นนี้ ก็เนื่องจากรัฐมิโซราม เป็นรัฐหนึ่งในอินเดียที่ถือสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (self-determination) ตามข้อตกลงสันติภาพอินเดีย-มิโซ ในปี 2529 นั่นเอง  

ด้วยความร่วมมือกับภาคประชาสังคมมิโซและโครงสร้างระดับสภาตำบลกับกรรมการหมู่บ้าน มิโซรามอ้าแขนรับผู้ลี้ภัย มีการจัดค่ายพัก และระดมความช่วยเหลือทั้งจากในท้องถิ่นและจากชาวฉิ่นที่ลี้ภัยไปประเทศที่สามมาแจกจ่าย เมื่อมีอำนาจในการตัดสินใจและบริหารจัดการ รัฐบาลมิโซรามก็สามารถจัดระบบค่ายผู้ลี้ภัยเล็ก ๆ ที่กระจายอยู่กว่าร้อยแห่งใน 11 อำเภอ มีการทำทะเบียนรายชื่อ ออกบัตรประจำตัว และกำหนดระเบียบกฎเกณฑ์ เช่น ให้ผู้ลี้ภัยขออนุญาตกรณีต้องการออกนอกพื้นที่ รับรองสื่อมวลชน และทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่งก็จะต้องไม่ขัดต่อกฎชุมชน กฎหมายมิโซราม และกฎหมายอินเดีย ส่วนงานรับจ้างนั้นอนุญาตให้ทำได้ตามกฎหมายมิโซราม 

เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลอินเดียก็สามารถเจรจากับกองทัพพม่าได้ว่า การปฏิบัติของมิโซรามนั้นเป็นสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองของมิโซรามซึ่งอินเดียจำต้องยอมรับ หากข้อท้าทายต่อไปก็คือ ด้วยจำนวนประชากรผู้ลี้ภัยที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ใดว่ากองทัพพม่าจะยุติการประหัตประหารในเร็ววัน จึงเริ่มเกิดเสียงเรียกร้องจากทั้งภาคประชาสังคมมิโซและอินเดีย ให้รัฐบาลกลางเปิดช่องทางทั้งกฎหมายและนโยบายเพื่อสนับสนุนภารกิจทางมนุษยธรรมของรัฐเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียงล้านคนแห่งนี้ และให้ผู้ลี้ภัยฉิ่นสามารถเข้าถึงความคุ้มครองระหว่างประเทศได้ด้วย

ชุมชนกะเหรี่ยง-กะเรนนีชายแดนไทย-พม่ามีศักยภาพเข้มแข็งได้ไม่ต่างจากมิโซราม ตลอดปีกว่าที่ผ่านมา คนชายแดนคือกลไกสำคัญในการบรรเทาความทุกข์ยากของพี่น้องที่อยู่อีกฝั่งพรมแดน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการบริหารจัดการอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อความมั่นคงของประเทศไทยในระยะยาว 

หากเพียงรัฐบาลไทยจะเปิดช่องทางกฎหมายและนโยบายสนับสนุนสิทธิในการกำหนดมนุษยธรรมของชุมชนชายแดน เพื่อให้อย่างน้อยก็เป็นภารกิจที่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและมีอำนาจในการตัดสินใจ 

ชัยชนะก็จะตกเป็นของมนุษย์
4 กันยายน 2565

อ่านประกอบ 1) Centre must welcome Chin refugees with open arms, Mizoram is already doing so, Deepak K Singh, 19/07/22, Indian Express, 2) Mizoram to complete issuing identify certificates to 24,000 Myanmarese this month, 14/04/22, The Sentinal, 3 The Potential for long term support for the refugees who fled to India, 29/04/22, BNI Multimedia Group, 4) Young Mizo Association set up relief camps for refugees, 20/08/22, Outlook India

Related