ศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมืองและคนลี้ภัย

ศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมืองและคนลี้ภัย

| | Share

ศักดิ์ศรีของชนเผ่าพื้นเมืองและคนลี้ภัย

ข่าวของ สุนี ลี หญิงสาวชาวม้งวัย 18 ผู้คว้ารางวัลเหรียญทองโอลิมปิกยิมนาสติกประเภทบุคคลรวมอุปกรณ์ และเหรียญเงินประเภททีมรวมอุปกรณ์ให้กับทีมชาติสหรัฐฯ ครองพื้นที่สื่อไทยอย่างกว้างขวาง

ทว่า  หญิงสาวไม่ใช่ “ลูกครึ่งไทย-ม้ง” หรือ “ลูกครึ่งม้งไทย-อเมริกัน” หรือแม้แต่ “ลูกครึ่งม้ง-อเมริกัน”  ดังที่มีความพยายาม หรืออาจเป็นความรีบเร่งจนเกินไปของบางสำนักข่าวที่จะดึงกระแสชาตินิยมของสังคมไทย

สุนี ลี เกิดในสหรัฐฯ  จากพ่อแม่ซึ่งเป็นอดีตผู้ลี้ภัยชาวม้งลาว ที่เดินทางจากค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศไทยไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ  ซึ่งในชุมชนเซนท์ พอล มินเนียโพลิสที่สุนีเกิดนั้น เป็นที่ตั้งของชุมชนม้งขนาดใหญ่ด้วยประชากรกว่าแปดหมื่น ครอบครัวส่วนใหญ่เดินทางไปจากประเทศไทย แต่พวกเขาไม่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองไทย และไม่มีโอกาสผสมกลมกลืนกับสังคมไทย แม้จะมีญาติพี่น้องชาวม้งอยู่ในประเทศไทยก็ตามที

เหนือสิ่งอื่นใด ครอบครัวของสุนีมองความสำเร็จของเธอเป็นความภาคภูมิใจของชาวม้ง ซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองของภูมิภาคนี้ พ่อของสุนี ลีบอกว่าเหรียญทองโอลิมปิกคือ “ชัยชนะของชาวม้ง”

ประการต่อมา จากบทสัมภาษณ์ครอบครัว เพื่อนบ้าน และสมาชิกชุมชนม้งอเมริกัน สุนีคือความสำเร็จของผู้ลี้ภัย เพราะเธอคือ “เป็นตัวแทนของชุมชนม้งของเราที่เป็นคนไร้แผ่นดิน” และ “ความเป็นนักต่อสู้มาตลอดประวัติศาสตร์” กับ “บาดแผลจากสงครามและการลี้ภัยที่ทำให้ชาวม้งมีศักยภาพในการ ‘ล้มแล้วลุก’ คือสิ่งที่สุนีมีอยู่ในตัวอย่างเต็ม ๆ”

ท้ายสุด จากบทสัมภาษณ์ ผู้คนยังไม่ลืมที่จะชี้ว่า การที่ลูกของผู้ลี้ภัยเป็นตัวแทนของสหรัฐฯในโอลิมปิก คือความสำเร็จของสังคมอเมริกันที่ได้รับผู้ลี้ภัยไว้และให้สิทธิเสรีภาพที่จะมีชีวิตอยู่ “เรามีความภาคภูมิใจที่เป็นพลเมืองอเมริกัน และหวังว่าชาวอเมริกันจะภาคภูมิใจในตัวสุนี ความสำเร็จของเธอคือการแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่เป็นไปได้ในดินแดนแห่งนี้” 

สำหรับประเทศไทย หากชนเผ่าพื้นเมืองและผู้ลี้ภัยได้รับความเคารพทั้งในทางปฏิบัติและเชิงนโยบาย รวมถึงได้รับการปฏิบัติต่อฉันเพื่อนมนุษย์ หรือพี่น้องแล้ว ..

เมื่อนั้นเราจะสามารถภาคภูมิใจกับความสำเร็จที่มีอยู่มากมายหลายรูปแบบของบุคคลผู้เป็นชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และอดีตผู้ลี้ภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเคยหนีมาหาสถานที่ปลอดภัยอยู่ในบ้านเรา ก่อนที่จะได้กลายเป็นพลเมืองของประเทศใดประเทศหนึ่ง

30 ก.ค. 2564

**ข้อมูลจาก CNN, USA Today และอื่น ๆ อีกมาก

Related