วิกฤตมนุษยธรรมบนภาคตะวันออกของพม่า<br>เมื่อความฉุกเฉินเฉียบพลันและยืดเยื้อ

วิกฤตมนุษยธรรมบนภาคตะวันออกของพม่า
เมื่อความฉุกเฉินเฉียบพลันและยืดเยื้อ

| | Share

วิกฤตมนุษยธรรมบนภาคตะวันออกของพม่า
เมื่อความฉุกเฉินเฉียบพลันและยืดเยื้อ

รายงานล่าสุดของ KPSN (Karen Peace Support Network) เครือข่ายภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงที่ประสานความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวกะเหรี่ยงระบุว่า นับจากรัฐประหาร 1 ก.พ. 2564 จนถึงเดือนส.ค. 2565 ที่ผ่านมา มีผู้พลัดถิ่นใหม่ในพื้นที่ก้อธูเหล่ 7 จังหวัด (ซึ่งครอบคลุมรัฐกะเหรี่ยง และบางส่วนของรัฐมอญ มณฑลพะโคกับตะนาวศรี) เพิ่มขึ้นถึง 347,503 คน 

ตัวเลขผู้พลัดถิ่นในประเทศหรือ IDPs (Internally Displaced Persons) จากการคาดประมาณของ KPSN สูงกว่าตัวเลขของสำนักงานเพื่อการประสานงานกิจการมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ถึงเท่าตัว เพราะในต้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา OCHA เพิ่งรายงานจำนวน IDPs ในพื้นที่ทั้งหมดของรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ มณฑลตะนาวศรี และด้านตะวันออกของพะโค (ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างขวางกว่าการสำรวจของ KPSN) ไว้เพียง 162,000 คนเท่านั้น

ผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่าบนภาคตะวันออก มีทั้งที่อยู่รวมกันเป็นค่ายพักชั่วคราว (IDP sties/camps) ที่มาอยู่ร่วมหรือตั้งเพิงพักอาศัยกับกับชุมชนอื่นที่ปลอดภัย (กว่า) และที่ยังหลบซ่อนเคลื่อนย้ายไปมาไม่รู้จบอยู่ในผืนป่า ตัวเลขการสำรวจ IDPs โดยองค์กรภาคประชาสังคมของกลุ่มชาติพันธุ์ มาจากการรวบรวมตัวเลขประชากรในหมู่บ้าน/ครัวเรือนที่ถูกทิ้งร้างหรืออพยพเป็นหลัก เพราะการไปหานับเอาจากคนที่กำลังพลัดถิ่นอยู่เป็นไปได้ยากยิ่ง 

ขณะที่ตัวเลขของOCHA สหประชาชาติ มาจากการทำงานส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมผ่านรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งนอกจากจะถือเป็นการให้ความชอบธรรมทางการเมืองต่อผู้ที่ก่อให้เกิดการพลัดถิ่นฐานเสียเองแล้ว ยังเป็นความช่วยเหลือที่ส่งไม่ตรงจุด เพราะเมื่อไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่สงครามอันเป็นเขตชาติพันธุ์ได้ ก็หันไปให้ข้าวปลาอาหารแก่คนเปราะบางในเมืองอย่างย่างกุ้งเสียแทน

แม้ตลอดเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายประชาสังคมจะมีกลไกและบุคลากรที่สามารถเสี่ยงอันตรายเข้าไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่เปราะบางทีสุดได้ ปัญหาสำคัญก็คือ การขาดแคลนการสนับสนุนที่เพียงพอ และต่อเนื่อง 

หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติเลือกที่จะทำงานกับคณะผู้ปกครองทหาร ทุนจากหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีกฎเกณฑ์มากมายโดยต้องการแผน ตัวชี้วัด ตัวเลข ภาพถ่าย หรือเอกสารการเงินหรูหราเกินคำว่า “ฉุกเฉิน” ก็ไม่สามารถช่วยใครได้ ร้อยละ 50 ของความช่วยเหลือที่ส่งผ่านเครือข่ายประชาสังคม จึงมาจากผู้บริจาครายย่อย ซึ่งมีกำลังช่วยสั้น ๆ เพียง 1-3 เดือน ตอบสนองเพียงพอกับภาวะฉุกเฉินหลังการโจมตีเท่านั้น

ทว่า เมื่อกองทัพพม่าทำสงครามกับประชาชนอย่างยืดเยื้อ อีกทั้งยังใช้ยุทธการการตัดขาดชุมชนจากการเข้าถึงอาหาร รวมถึงการเกษตรเพื่อผลิตอาหาร ภาวะขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะข้าวในอีก 12 เดือนถัดไปจึงมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้นมาก ในขณะที่เงินบริจาคเริ่มลดน้อยถอยลงทุกขณะ

ภาวะฉุกเฉินในประเทศพม่าทุกวันนี้ ไม่ใช่การเกิดเหตุโดยปัจจุบันทันด่วนแบบที่จะจบลงไปอย่างรวดเร็ว หากเป็นภัยพิบัติฝีมือมนุษย์ ที่เกิดเหตุเฉียบพลันอย่างซ้ำซากจนเป็นความหายนะอันยืดเยื้อ 

วิกฤตที่ดำรงอยู่ต่อเนื่อง ต้องการความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ต่อเนื่อง และมีมิติหรือแนวคิดเชิงพัฒนาร่วมด้วย เพื่อจะได้ไม่ไปสร้างสภาวะการพึ่งพาซึ่งหากยืดเยื้อก็จะยิ่งเป็นวิกฤตที่สาหัสซ้อนทับขึ้นไปอีก 

เมื่อผู้นำรัฐทั้งโลก ยังปล่อยให้กองทัพพม่าเข่นฆ่าผู้คนต่อไปด้วยน้ำมันเครื่องบินรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่สิ้นสุด หน่วยงานที่มีทรัพยากรทั้งหลายจะต้องเข้าใจว่า การช่วยชีวิตคน ณ บัดนี้ จะทำได้ก็ด้วยการตัดสินใจที่รวดเร็วฉับไว ตัดขั้นตอนยืดเยื้อยุ่งยากออกไปให้มากที่สุด และยินยอมเชื่อใจกลไกของภาคประชาชน ร่วมกันพัฒนากลไกในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เท่านั้น

1 พฤศจิกายน 2565

ภาพประกอบ : ผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยง cr : KPSN-KESAN 

Related