ระเบิด เครื่องบิน น้ำมันเครื่องบิน ไม่ได้เกิดขึ้นเองในประเทศพม่า

ระเบิด เครื่องบิน น้ำมันเครื่องบิน ไม่ได้เกิดขึ้นเองในประเทศพม่า

| | Share

ระเบิด เครื่องบิน น้ำมันเครื่องบิน ไม่ได้เกิดขึ้นเองในประเทศพม่า

เมื่อผู้นำกองทัพของกลุ่มประเทศอาเซียนไม่ใส่ใจกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือหลักการทางมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน และไม่ได้ยินเสียงร่ำร้อง ประท้วง หรือก่นด่าใด ๆ  ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 นายพลทุน อ่อง ผู้บัญชาการกองทัพอากาศของพม่าซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสั่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศอันเป็นยุทธการทำลายล้างชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนไร้อาวุธอันเหี้ยมโหดที่สุด จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานการประชุมผู้นำกองทัพอากาศอาเซียน (ACCC) ครั้งถัดไปอย่างเป็นทางการ

ในวันเดียวกัน เวลาราวบ่ายสี่โมงครึ่ง เครื่องบินรบพม่าได้บินเข้าโจมตีพื้นที่สามหมู่บ้านในอำเภอดเวโล จังหวัดมื่อตรอ ตามด้วยการระดมยิงปืนใหญ่เข้าหมู่บ้านมากกว่า 20 นัด  ไม่มีรายงานของการสูญเสียชีวิต เนื่องจากชาวบ้านไม่มีใครกล้าอยู่ในหมู่บ้านของตนเองอยู่แล้ว และจะต้องใช้ชีวิตเป็นคนพลัดถิ่นเร่ร่อนต่อไปอีกนานตราบใดที่โลกและอาเซียนยังไม่แยแสกับการเข่นฆ่าคุกคามของกองทัพพม่าต่อประชาชน

ปฏิบัติการทิ้งระเบิดซึ่งมีผลการทำลายล้างกว้างขวาง ถือเป็นปฏิบัติการก่อการร้ายที่มุ่งสร้างความหวาดกลัว และทำลายทรัพย์สินกับชีวิตของพลเรือนไร้อาวุธอย่างไม่เลือกหน้า สถานที่ที่ถูกระเบิดทำลายเกือบทั้งหมดคือบ้านเรือนประชาชน โบสถ์คริสต์ วัดพุทธ โรงเรียน สถานพยาบาล ผู้เสียชีวิตจากระเบิดมีทั้งชาวบ้านหนุ่มสาว คนชรา เด็กโต เด็กเล็ก พวกเขาเป็นเกษตรกร คนพลัดถิ่น ครู นักเรียน ตลอดจนศิลปินชื่อดัง ที่เสียชีวิตจากการถล่มงานคอนเสิร์ตเฉลิมฉลองที่เมืองผากั้น รัฐคะฉิ่น เมื่อ 23 ตุลาคมที่ผ่านมาและทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 80 คน สูญหายอีกจำนวนมาก และที่บาดเจ็บก็ถูกกองทัพพม่าปิดกั้นหนทางการเข้าถึงโรงพยาบาล

ภายใต้การบังคับบัญชาของนายพลทุน อ่อง เครื่องบินรบของพม่าออกบินอยู่ทุกวัน เครื่องบินเหล่านี้มาจากรัสเซีย และนักบินที่ขับเครื่องบินทิ้งระเบิดรวมถึงตัวนายพลทุน อ่องเอง ก็ได้รับการฝึกอบรมมาจากรัสเซีย  นอกจากราคาของตัวเครื่องบินรบทันสมัยที่ระบุพิกัดได้แม่นยำแล้ว ปฏิบัติการแต่ละครั้งมียังใช้งบประมาณสูงลิ่ว แต่ละเที่ยวอาจต้องใช้งบประมาณสูงถึง 2-3.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (สัมภาษณ์ ดร. Miemie Winn Byrd, Asia Pacific Center for Security Studies, สำนักข่าวอิระวดี 11/03/22)  เป็นราคาของอาวุธที่ใช้ในแต่ละครั้ง และน้ำมันที่เติม ซึ่งเป็นน้ำมันคนละประเภทกับที่พลเรือนใช้กับรถยนต์

รายงานการสืบสวนล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบว่า เส้นทางการขายน้ำมันเลือดหลักมาจาก Puma Energy ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติสวิส หากยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งจากสิงคโปร์ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย และไทย 

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การต่อต้านคณะทหารพม่าที่ยึดอำนาจปกครองประเทศไว้อย่างตรงไปตรงมาอาจทำให้เกิดความไม่สงบในภูมิภาคโดยเฉพาะบริเวณชายแดน หากการทูตที่ยอมรับผู้นำกองทัพอากาศที่วันหนึ่งในอนาคตข้างหน้าอาจถูกดำเนินคดีในฐานะที่มีส่วนในอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เป็นข้อผิดพลาดอันเลวร้าย นอกจากนี้ มีหลายหนทางที่จะบรรเทาเบาบางความสูญเสียชีวิตของผู้บริสุทธิ์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็คือญาติพี่น้องของประชาชนไทยชายแดน ก็คือการตัดขาดเส้นทางการขายน้ำมันเครื่องบินรบให้แก่กองทัพพม่า และคว่ำบาตรธุรกิจทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเครื่องบินรบ ที่เป็อันเป็นเครื่องมือสังหาร 

เมื่อตีหนึ่งของคืนที่ผ่านมา วันที่ 9 พฤศจิกายน เครื่องบินรบพม่าปฏิบัติการโจมตีโรงเรียนประถมและโบสถ์คริสต์ของชุมชนต้าบอก่อในอำเภอหลู่ตอ จังหวัดมื่อตรอ ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ข่าวเช่นนี้จะยังคงมีให้ได้ยินอยู่ทุกวี่วัน ตราบใดที่กองทัพพม่ายังได้รับการสนับสนุนทางด้านการทูต การเงิน การทหาร ทั้งทางตรง และทางอ้อมผ่านการทำธุรกิจเลือดทุกชนิดกับกองทัพพม่า รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับเส้นทางการนำเข้าอาวุธทุกชนิด

น้ำมันเครื่องบิน อาจถือได้ว่าเป็นอาวุธชนิดหนึ่ง

10 พฤศจิกายน 2565
ภาพประกอบ
1. ผู้นำกองทัพอากาศกลุ่มประเทศอาเซียน ในการประชุม ASEAN Air Cheif Conference 2022
2. โบสถ์ของบ้านต้าบอก่อ จังหวัดมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง ที่ถูกระเบิดเมื่อคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565  ภาพจากชาวบ้านสาละวิน cr : KWO
3. เด็กสาวอายุ 16 ปี ที่ได้รับบาดเจ็บจากระเบิด จังหวัดดูปลายา รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 25 ตุลาคม 2565 ภาพ cr : KHRG

Related