ย่ำตามรอยเท้าแห่งความเจ็บปวด (การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ ตอนที่ 2)

ย่ำตามรอยเท้าแห่งความเจ็บปวด (การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ ตอนที่ 2)

| | Share

ย่ำตามรอยเท้าแห่งความเจ็บปวด (การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ ตอนที่ 2)

**บันทึกของผู้ลี้ภัยการเมือง เผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบขวบปีของการโจมตีเมืองเลเก้ก่อ ซึ่งนำมาสู่การอพยพครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2564 ***

ประเทศพม่าของเรานั้นงดงาม อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทิวเขาสูงปกคลุมด้วยป่าไม้หลากเฉดสี จากน้ำเงินสู่เขียว ลดหลั่นทอดตัวลงเป็นหุบเหวที่โอบอุ้มลำห้วยไหลริน  แต่ที่น่าเจ็บปวดก็คือ ชาวบ้านชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความงดงามเช่นนี้ ถูกริดรอนโอกาสที่จะได้รื่นรมย์กับความงามตรงหน้า เพราะพวกเขาต้องคอยหนีตาย เอาชีวิตรอดจากการโจมตีอันโหดเหี้ยมของกองทัพพม่ามาหลายทศวรรษ

ชาวบ้านชาติพันธุ์ต้องหนีภัยสงครามอยู่ท่ามกลางป่าเขาอันแสนสวยเหล่านี้มาปีแล้วปีเล่า การดิ้นรนหนีตายของพวกเขาดำเนินไปโดยที่คนอย่างผมไม่ค่อยจะได้รู้เห็น  แต่ในวันนี้ ผมได้เห็นเต็มสองตา หูได้ยินเต็มสองหู  และผมได้หนีสงครามพร้อม ๆ กับพวกเขา  หลบซ่อนตัวจากกองทัพเผด็จการที่เข้ามาก่อการร้ายอยู่เช่นเดียวกับพวกเขา

ปีพ.ศ. 2564 ผมหลบหนีการกวาดล้างของทหาร มาอยู่ที่เมืองเลเก้ก่อ ดินแดนอิสระในรัฐกะเหรี่ยง นักศึกษาและพลเรือนที่หลบหนีการปราบปรามอันโหดเหี้ยมของทหารและตำรวจพม่าส่วนหนึ่งก็มาอยู่ที่นี่ด้วยกับผม

เลเก้ก่อเป็นเมืองใหม่ที่สร้างจากเงินสนับสนุนของมูลนิธิญี่ปุ่นหรือรัฐบาลญี่ปุ่น  เป้าหมายคือเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพและการพัฒนาอันยิ่งใหญ่ที่ชายแดน  ชาวบ้านเลเก้ก่อบอกผมว่า เมืองใหม่นี้คือที่พักพิงของอดีตผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงที่หนีความโหดร้ายของกองทัพพม่ามาหลายชั่วอายุคน พวกเขาคือคนที่ตัดสินใจเดินทางกลับออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในไทย ซึ่งทุกวันนี้มีอยู่ถึงเก้าแห่ง ทุกคนต่างมาเพื่อมาสร้างชีวิตใหม่ และหวังว่ามันจะเป็นชีวิตที่มีสันติ แต่แล้วผ่านไปเพียงสองปี พวกเขาก็ต้องหนีกระเจิดกระเจิง บ้านแตกสาแหรกขาดอีกครั้ง

หลังจากที่ผ่านด่านตรวจมานับสิ ผมก็มาถึงเมืองเล็ก ๆ อันสวยงามน่าอยู่ โอบล้อมไว้ด้วยเทือกเขาถนนธงชัยสูงตระหง่าน ตลอดทางผมนุ่งห่มชุดโยคี ด้วยรูปลักษณ์ของผมนั้นเหมาะที่จะปลอมตัวเป็นโยคีที่เดินทางมาเผยแผ่ความเชื่อตามแนวชายแดน พวกทหารตามด่านแต่ละแห่งพนมมือและก้มหัวทำความเคารพให้กับผม ขณะนั้นหัวใจผมเต้นแรง เหงื่อซึมที่อุ้งมือ แต่ก็อดมีเสียงหัวเราะอยู่ในใจไม่ได้ มันเป็นทั้งความขบขัน และความดีใจอย่างบอกไม่ถูกเมื่อคิดว่าเราจะได้มีชีวิตรอดในเขตอิสระแล้ว  

ที่เลเก้ก่อ เพื่อน ๆ ของเราออกมาต้อนรับและจัดสถานที่ให้เราไปพักอาศัยอยู่ในโรงเรียนใหม่ที่ปิดไปตั้งแต่โควิดเริ่มระบาด หลาย ๆ คนที่เข้าร่วมขบวนอารยะขัดขืน (CDM) จากทั่วประเทศก็หลบลี้หนีภัยมาอาศัยอยู่ในโรงเรียนนี้  จึงเรียกได้ว่า โรงเรียนนี้ก็มีบทบาทเชิงการต่อต้านเผด็จการทหารกับเขาด้วยแม้ว่ามันจะไม่สามารถเปิดสอนได้

ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย พวกเราไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปข้างนอกเลย ต้องกินอยู่แต่ในเขตโรงเรียนเท่านั้น บางคราวผมก็สงสัยว่า นี่พวกเราที่หนีการจับกุมด้วยข้อกล่าวหาเหลวไหลไร้ความเป็นธรรมของเผด็จการทหาร เพื่อจะมาถูกลงโทษให้ต้องจองจำอยู่แต่ในเขตนี้หรือไม่ เมื่อพูดกันแบบนี้กับคนที่อยู่ด้วยกัน พวกเราก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน  การต่อสู้ดิ้นรนเอาชีวิตรอดจะดำเนินต่อไปได้ถ้าเรายังมีอารมณ์ขันกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนี้

ในช่วงที่อาศัยอยู่ที่โรงเรียนแห่งนั้น บางทีผมก็รู้สึกว่าตัวเองยังอยู่ในที่คุมขังระหว่างการสอบสวนของทหารพม่า เพราะหลายต่อหลายครั้งเมื่อกำลังจะเคลิ้มหลับ ก็จะมีคนมาปลุกและตะโกนว่า “ทหาร (พม่า) มาแล้ว หนี  ๆ ๆ เร็ว”  การถูกปลุกอยู่บ่อย ๆ ในขณะที่สมองเริ่มตกเข้าภวังค์นั้นเป็นการทรมานนักโทษอย่างหนึ่ง เราถูกปลุกอยู่แบบนี้ทั้งที่ไม่ได้มีทหารพม่าที่ไหนจะมา แต่เมื่ออยู่ไปสักเดือน ทุกคนก็จะเริ่มชินกับสัญญาณเตือนภัยอย่างนั้นและไม่ได้รู้สึกทรมานมากนัก ผมได้เรียนรู้ว่า พวกเขาที่นี่ไม่ได้ต้องการจะใจร้ายกับเราหรืออยากแกล้งดึงเราจากเวลานอนหลับพักผ่อนหรอก ทุกอย่างที่เขาทำก็เพื่อความปลอดภัยของเราจริง ๆ พวกเขาต้องฝึกเราให้พร้อมสำหรับวันที่กองทัพพม่าอาจจะโผล่หน้ามา ไม่เช่นนั้นเราจะไม่สามารถเอาตัวเองให้รอดได้ 

ซึ่ง พอกองทัพพม่ามาเข้าจริง ๆ เราก็พร้อมหนีได้จริง ๆ อย่างไม่น่าเชื่อ เราสามารถจัดการอพยพตัวเอง คนแก่ ผู้หญิง เด็ก ไปยังที่หลบภัยในป่าได้ทันเวลา รอดปลอดภัยทุกคน

แล้วมันก็ไม่ง่ายเลยที่จะต้องหลบภัยอยู่ในป่า

ผมเพิ่งได้เรียนรู้ว่า ในป่านั้น เราต้องเอาชีวิตรอดด้วยการกินโดยที่ไม่ให้มีควันไฟ  เพื่อน ๆ ชาวกะเหรี่ยงสอนผมว่าจะต้องทำอย่างไร เมื่อได้เห็นกับตา ได้สัมผัสกับชีวิตจริง ได้ก้าวตามรอยเท้าเดิมที่พวกเขาเคยก้าวไว้ก่อน ผมก็รู้สึกได้ทันทีถึงความทุกข์ยากและเจ็บปวดของพวกเขา ประชาชนชาวกะเหรี่ยงที่ต้องหนีสงครามมาหลายทศวรรษ เพราะกองทัพที่บ้าคลั่งในอำนาจ 

เราหลบอยู่ในป่าแบบนี้ได้สักอาทิตย์หนึ่ง พอกองทัพเผด็จการออกไป เราจึงได้รับอนุญาตให้กลับไปยังโรงเรียน ที่หลบภัยแห่งแรกของเราได้เหมือนเดิม  

(ยังมีตอนต่อไป)

เรื่องและภาพโดย สะยา ฆา
หมายเหตุ ภาพถ่ายจากเมืองเลเก้ก่อ ก่อนที่เครื่องบินรบพม่าจะทิ้งระเบิดทำลายย่อยยับ

ตอนที่ 1 การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ บันทึกของผู้ลี้ภัย
ตอนที่ 2 ย่ำตามรอยเท้าแห่งความเจ็บปวด
ตอนที่ 3 ตามรอยเท้า
ตอนที่ 4 บนเส้นทางที่คดเคี้ยว

Related