มีอะไรมากกว่าคำว่า “ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

มีอะไรมากกว่าคำว่า “ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

| | Share

มีอะไรมากกว่าคำว่า “ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย”

รายงานข่าวการจับกุมผู้คนที่หลั่งไหลออกจากประเทศพม่าเข้าสู่ประเทศไทยมีมาไม่ขาดสาย ตัวเลขจากกองทัพภาคที่ 3 ระบุว่า ภายในเมษายนเดือนเดียว มีการจับกุมทั้งหมด 168 ครั้งจำนวน 1,792 คน 

สำหรับแถบชายแดน จ.ตาก เพียง 2 วันที่ผ่านมา มีการจับกุมชาวบ้านที่นายหน้ากำลังพาเดินป่าเพื่อหลบเลี่ยงด่านได้ในแถบอ.วังเจ้า 156 คน ที่กำลังจะนั่งรถเข้าเมืองจากอ.ท่าสองยางอีก 25 คน และที่หลบอยู่ในพื้นที่ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด 6 คน 

ผู้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า “แรงงานต่างด้าว” ที่ “ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” ซึ่งอาจเป็นจริงตามตัวอักษร แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ที่สำคัญ ช่องว่างระหว่างวรรคของถ้อยคำเหล่านี้ บรรจุไว้ด้วยความหมายอีกมากมาย

นับจากรัฐประหารพม่า 1 กุมภาพันธ์ ไม่เพียงการเมืองและกระบวนการสันติภาพจะพังทลาย สภาพเศรษฐกิจของพม่ายังล่มสลายไปด้วย ด้วยเหตุนี้ จากการหนีตายของผู้เรียกร้องประชาธิปไตย จึงตามมาด้วยการหลั่งไหลของชาวบ้านที่หนีภัยสงคราม  และการดิ้นรนเอาชีวิตหนีให้รอดพ้นจากความอดอยากยากแค้นทุกหย่อมหญ้า

สำหรับผู้คนที่หนีตายข้ามแดน พวกเขาไม่ได้แยกวัน เวลาหรือสถานที่ข้ามแดน และไม่ได้แยกขาดรูปแบบการเดินทางและที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ ความตายที่พวกเขาหนีมาอาจเป็นความตายแบบเฉียบพลัน หรือการปล่อยให้ค่อย ๆ ตายลงช้า ๆ 

ผู้ลี้ภัยการเมืองส่วนหนึ่งทะยอยข้ามแดนมาไม่ต่างกับคนที่ต้องการมาทำงาน  อีกส่วนหนึ่งก็หลบหนีมาพร้อมกับชาวบ้านที่หนีภัยสงครามมาเป็นกลุ่มใหญ่  ขณะเดียวกัน เมื่อผ่านหลายเดือนของความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่จำกัดจำเขี่ย หลายคนก็เริ่มออกหางานทำในสภาพที่ไม่มีเอกสารประจำตัวทางกฎหมายใด ๆ

ผู้คนมหาศาลที่ถูกจับในฐานะ “แรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง” จึงอาจเป็นใครก็ได้ นอกจากอาจเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่ามาแล้ว อีกส่วนหนึ่งก็อาจเป็นผู้ลี้ภัยสงครามที่บ้านช่องถูกทำลาย หรือจำต้องทิ้งร้าง ไร่นาไม่ได้ทำ ข้าวสารที่หอบหิ้วมาเพื่อหลบภัยหมดเกลี้ยง นอกจากนี้ บางแห่งยังมีการบังคับเกณฑ์ลูกหาบ เกณฑ์ทหาร และจับผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามไปสอบสวนทรมาน

ตราบใดที่ไทยยังไม่ยอมดำเนินกระบวนการคัดกรองคนข้ามแดนเพื่อระบุผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเนื่องจากไม่สามารถกลับถิ่นฐานได้โดยปลอดภัย ยังไม่ยอมรับและสนับสนุนงานการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัยของ UNHCR และไม่ปรับนโยบายการจัดการแรงงานข้ามชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองประเทศเพื่อนบ้าน

ข่าวการจับกุมคนเข้าเมืองรายวัน ก็จะยังคือโศกนาฏกรรมรายวันอันสะเทือนขวัญสำหรับชีวิตมนุษย์อีกมากมาย 

8  พฤษภาคม 2565

Related