มาลาเรีย ควันระเบิด และเสียงปืน

มาลาเรีย ควันระเบิด และเสียงปืน

| | Share

มาลาเรีย ควันระเบิด และเสียงปืน

ข่าวด่วนอันเงียบเชียบ 

รัฐกะเหรี่ยงและกะเรนนีกำลังเผชิญกับการระบาดของมาลาเรียอย่างที่ไม่มีมาหลายปีแล้ว
“ที่ชายแดนกะเรนนีคนเป็นมาลาเรียเยอะมาก ชาวบ้านที่หนีสงครามกว่าจะมาถึงก็ติดเชื้องอมแงม” ครูในค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ (IDPs) ริมแดนกะเรนนีบอก
เมื่อคนชายแดนพูดถึงมาลาเรีย ฟังเผิน ๆ อาจเข้าใจไปว่า มาลาเรียกับป่าชายแดนไทย-พม่าเป็นเรื่องปกติ  
แต่อันที่จริง “เราไม่เห็นเหตุการณ์แบบนี้มาหลายปีแล้ว” คนริมเมยกล่าว

เพียง 5 เดือนก่อนรัฐประหาร เพิ่งปรากฎรายงานของ The Global Fund ที่ระบุว่า พม่าประสบความสำเร็จมากในการควบคุมมาลาเรีย จำนวนผู้ป่วยลดลงจากเมื่อทศวรรษก่อน จากมากกว่าล้านคนต่อปีเหลือเพียงราวแสน จำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีลดจาก 3,800 เหลือเพียง 170 คน (http://www.theglobalfund.org/…/2020-09-14-myanmar…/) ทั้งหมดนี้มาจากความพยายามอย่างต่อเนื่องทั้งจากองค์กรเอกชนบนชายแดนไทยอย่างศูนย์วิจัยมาลาเรียโชโกล (SMRU) ที่ดำเนินงานภายใต้คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล องค์กรชุมชน (CBOs) หน่วยงานสาธารณสุขของชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนี ตลอดจนถึงอาสาสมัครชุมชนราว 17,000 คนทั่วประเทศและองค์กรเอกชนภายในพม่า

“ปีนี้มาลาเรียหนักจริง กระจายทุกหมู่บ้านแถบนี้ คนป่วยเยอะจนชุดตรวจไม่พอ ยามีไม่พอ ยามาไม่ทันกับคนป่วย” ครูจากชุมชนริมน้ำเมยจังหวัดพะอัน รัฐกะเหรี่ยงเล่า ขณะที่อีกคนเสริมว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนที่หมู่บ้านมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อสูงถึง 20 คนจากทั้งหมด 23 คน ทั้งหมดเป็นเชื้อประเภท PV  ซึ่งอาการไม่รุนแรง แต่อาจเรื้อรังได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

“ในมื่อตรอ มาลาเรียตามหลังสงครามมาติด ๆ ตั้งแต่ฝนที่แล้ว ที่นี่ไม่มีมาลาเรียเยอะขนาดนี้มานานแล้ว SMRU พยายามหลายปีจนสำเร็จ แต่อยู่ ๆ มันก็กลับมา” อาสาสมัครจังหวัดมื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยงเล่า ตัวเขาเองติดเชื้อมาแล้ว 2 รอบภายในรอบ 3 เดือน 

“ปีที่แล้วมี PV พอปีนี้เริ่มเจอ PF มากขึ้นเรื่อย ๆ”  เขากำลังพูดถึงมาลาเรียประเภทที่สามารถทำให้เชื้อขึ้นสมองและเสียชีวิตได้ “ศูนย์มาลาเรียชุมชนไม่มียา PF ยามีแต่ในโรงพยาบาล IDPs สองแห่งที่ชายแดนในจำนวนจำกัดมาก ๆ SMRU ขาดยาขาดชุดตรวจ มีเท่าไหร่กระจายออกหมด แต่เท่าไหร่ก็ไม่พอ ตอนนี้คนเป็น PF ก็กินยา PV หรือไม่ก็ไม่ได้รักษา”

จากรายงานความสำเร็จของการควบคุมมาลาเรียบนชายแดนพม่า หลักการสำคัญคือ การตัดวงจรการระบาดด้วยการตรวจหาเชื้อให้ได้ทั่วถึงและเร็วที่สุดเมื่อเริ่มอาการ จ่ายยารักษาให้ได้เร็ว และส่งตัวผู้ป่วยหนักไปโรงพยาบาล ขณะที่มีงานเชิงรุกด้านเผยแพร่ความรู้ในการป้องกันโรค รวมถึงแจกมุ้งกันยุงคุณภาพดีให้ทั่วถึง ไม่ต่างอะไรกับการรีบตรวจ รักษา และการกระจายหน้ากากอนามัยในยุคโควิด

หากเมื่อเกิดรัฐประหารและสงคราม วงจรการระบาดของมาลาเรียที่ถูกตัดไปก็ค่อย ๆ ต่อกลับด้วยตัวเอง ขณะที่วงจรการควบคุมมาลาเรียถูกตัดด้วยระเบิด ปืนใหญ่ การเคลื่อนย้ายกำลังทหาร การอพยพพลัดถิ่นฐาน 

ข้อเท็จจริงนี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยหลายฉบับซึ่งได้รับการเผยแพร่ใน National Library of Medicine (www.ncbi.nlm.nih.gov) ที่ชี้ว่า การเคลื่อนย้ายกำลังทหารกับการอพยพหนีภัยสงครามของชาวบ้าน หมายถึงพฤติกรรมการกินอยู่อย่าง “ชั่วคราว” ไม่มีระบบสุขาภิบาล การจัดการน้ำ ฯลฯ จนก่อให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่เป็นพาหะ ขณะที่ไร่ นา สวน ซึ่งถูกทิ้งร้าง ก็จะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงได้มากกว่าในภาวะปกติเช่นกัน  

ที่สำคัญ ผู้คนที่เคยนอนหลับอยู่ในมุ้งในบ้านต้องมานอนในเพิงผ้าใบหรือใต้ร่มไม้โดยไม่มีเครื่องป้องกัน  ผู้พลัดถิ่นที่เจ็บป่วยไม่สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อและยาได้อย่างทันท่วงที ขณะที่สุขภาพร่างกายอ่อนแอจนภูมิคุ้มกันตก ส่งผลให้การระบาดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และไปไกลพร้อมกับการโยกย้ายของคน

สายน้ำและเส้นพรมแดนจะกั้นมาลาเรียได้นานเพียงใดยังไม่มีใครตอบได้ การควบคุมโรคชายแดนไม่สามารถกระทำได้เพียงในฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรหากสงครามและการพลัดถิ่นฐานยังดำเนินอยู่ต่อ  คนชายแดนที่กำลังเผชิญกับมาลาเรียอาจอธิบายในเชิงวิชาการไม่ได้ว่าเหตุใดมาลาเรียจึงกลับมารุนแรงอีกครั้ง หากพวกเขาค่อนข้างมั่นใจที่จะยืนยันว่า 

“มันมาพร้อมกับควันระเบิดและเสียงปืน”

19 กรกฎาคม 2565
ภาพประกอบ : ผู้อพยพหลบหนีสงครามในรัฐกะเรนนีและกะเหรี่ยง โดย ชาวบ้านกะเรนนีและชาวบ้านริมเมย

Related