“พม่าที่พลิกผัน”

“พม่าที่พลิกผัน”

| | Share

“พม่าที่พลิกผัน”

อันที่จริงแล้ว “พม่าที่พลิกผัน” ซึ่งใช้ชื่อเสวนาในภาษาอังกฤษว่า Unpredictable นั้นไม่ได้เป็นการแปลตรงตัว เพราะคำว่าพลิกผัน มีความหมายถึงความเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้

นอกจากนี้ หากจะมองว่า หลังรัฐประหาร 1 ก.พ. 2021 เป็นช่วงเวลาแห่งความพลิกผัน จริง ๆ แล้ว ก็ไม่ใช่เป็นการ “พลิก” ของสถานการณ์จากหน้ามือไปเป็นหลังมืออีก เนื่องจากประเทศพม่าก่อนรัฐประหารก็ไม่ได้ดีงามเป็นสันติสุขมากนัก ยังมีประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อันเนื่องมาจากโครงสร้างการเมืองที่ยังไม่มั่นคงอยู่มาก ตั้งแต่กรณีเสรีภาพสื่อ เสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ไปจนถึงความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ/หรือกองทัพพม่ากับชาวโรฮิงญา และที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชาติพันธุ์ชายแดนไทย-พม่า เช่นในรัฐกะเหรี่ยง กะเรนนี ฉาน เป็นต้น หลักฐานหนึ่งก็คือ ผู้ลี้ภัยที่ยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทยร่วมแสน คนเหล่านี้ยังไม่สามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและปลอดภัยได้ 

อย่างไรก็ตาม ความพลิกผันของประเทศพม่าที่ว่านั้น ก็เป็นลักษณะการ “พลิก” จากการกำลังค่อย ๆ ก้าวไปข้างหน้า ไปเป็นการกระโดด พรวด ถอยหลังเสียมากกว่า 

กล่าวคือ คือ แม้เดิมกองทัพพม่าจะยังคงอำนาจไว้ในระบบการเมืองอย่างไร ชาวบ้านชาติพันธุ์จะยังไม่สามารถเข้าถึงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างไร หรือ สันติภาพระหว่างกองทัพพม่าและชนชาติพันธุ์จะไม่ค่อยคืบหน้าไปจากการเจรจาหยุดยิงอย่างไร สิทธิมนุษยชน ก็ยังแลดูเหมือนจะมีที่มีทาง มีความหวังที่จะพัฒนาด้วยช่องทางต่าง ๆ อยู่บ้าง นอกจากนี้ ปัจจัยในด้านโลกอินเตอร์เน็ตไร้พรมแดน ก็เปิดให้ประชาชนพม่าก้าวไปข้างหน้าเอามาก ๆ มากเสียจนถึงวันนี้ไม่อาจจะยอมถอยหลังกลับไปกับกองทัพได้อีกต่อไป

แล้วทำไมจึงจะต้องมีเสวนาว่าด้วยเรื่องราวเหล่านี้ เหตุใดเราจะต้องมาใส่ใจในวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศข้าง ๆ บ้านด้วย คำถามแบบนี้ปรากฏขึ้นบ่อยมาก ซึ่งจริง ๆ ก็เป็นคำถามที่แปลก เพราะมันตั้งอยู่บนการอนุมานว่า วิกฤตสิทธิมนุษยชนนั้นจะต้องจำกัดอยู่ในขอบแดนของประเทศหนึ่งได้อย่างว่าง่ายเท่านั้น ราวกับว่าหากเราปิดกั้นไม่ยอมรับรู้ และไม่ยอมให้ผู้คนจากประเทศพม่าหนีภัยเข้ามาอยู่ในประเทศเราแล้ว วิกฤตนั้นก็จะสิ้นสุดลงตรงที่เส้นพรมแดน หรือหากเราผลักคนหนีภัยกลับไป วิกฤตก็จะถูกผลักดันกลับไปพร้อม ๆ กับเขาและเธอเหล่านั้นไปด้วย 

การทำเป็นไม่รับรู้ และวิธีคิดแบบปฏิเสธความจริง มีแต่จะทำให้การแผ่ขยายของวิกฤตยิ่งไกล ยิ่งลึก และซับซ้อนขึ้น หากเราปล่อยไว้อย่างนี้ เงื่อนปมต่าง ๆ ก็ย่อมแกะได้ยากขึ้นไปตามกาลเวลา

7 ตุลาคม 2565
เสวนา “พม่าที่พลิกผัน”  ร่วมจัดโดยคณะนิติศาสตร์ ม.ช., RCSD, SEM, KPSN และเพื่อนไร้พรมแดน

Related