พม่าที่พลิกผัน (4)

พม่าที่พลิกผัน (4)

| | Share

พม่าที่พลิกผัน (4)

วิกฤตสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าส่งผลให้ผู้คนหลั่งไหลออกนอกประเทศมหาศาล เป็นการเดินทางหลากหลายรูปแบบช่องทาง บางกลุ่มยังไม่พบภัยอันตรายถึงตัวแต่ไม่ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ภายใต้อำนาจทหารจึงรีบเร่งออกมาก่อนขณะยังถือเอกสารเดินทางได้ บางกลุ่มหนีภัยอันตรายอันถึงแก่ชีวิตและมีความประสงค์แท้จริงจะหลบภัยเพียงชั่วคราว บางกลุ่มหนีภัยโดยรู้ชัดว่าจะไม่สามารถกลับบ้านได้ตราบใดที่คณะทหารยังปกครอง และบางกลุ่มก็เลือกที่จะไปมีชีวิตรอดและหาอนาคตเอาดาบหน้า แทนที่จะอยู่อย่างมืดมนที่บ้าน

ในสถานการณ์จริง การจัดระเบียบมนุษย์แตกต่างจากการจัดระเบียบวัตถุ เราไม่อาจจับผู้คนคัดแยกใส่กล่องตามกำหนดกฎเกณฑ์ได้ว่า กล่องนี้เป็นกล่องผู้ลี้ภัยสงคราม กล่องนี้เป็นกล่องผู้ลี้ภัยการเมืองหรือผู้ที่หนีการประหัตประหารแบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล กล่องนี้เป็นกล่องผู้พลัดถิ่นในประเทศพม่า กล่องนี้เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือกระทั่งกล่องนี้เป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ 

ในกลุ่มผู้ลี้ภัยสงครามอาจมีผู้ลี้ภัยการเมืองปะปน คนเหล่านี้หลบหนีการปราบปรามจากเมืองชั้นในมาอยู่ในความคุ้มครองของกองกำลังชาติพันธุ์แถบชายแดน และเมื่อพื้นที่ถูกโจมตีก็หนีเข้ามาหาความคุ้มครองในไทยด้วยกัน คนคนหนึ่งจึงอาจเป็นได้ทั้งผู้ลี้ภัยการเมืองและผู้ลี้ภัยสงคราม โดยผู้ลี้ภัยสงครามที่ไม่ได้ถูกหมายหัวรายตัวนั้นอาจกลับบ้านได้หากสถานการณ์ในพื้นที่สงบ (จริง – ไม่ใช่เสียงปืนเงียบชั่วคราว) แต่ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจะไม่สามารถกลับไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐพม่าเข้าถึงได้หากสถานการณ์การเมืองยังไม่เปลี่ยนแปลง

เมื่อไม่ได้รับความคุ้มครอง ผู้ลี้ภัยในไทยก็ต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพและครอบครัว และก็ตกอยู่ในสถานะเป็นแรงงานข้ามชาติที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะที่คนที่ปรากฏเป็นข่าวว่าพยายามเดินทางเข้าสู่เมืองชั้นในและถูกจับกันเป็นคันรถนั้น ส่วนหนึ่งก็มาจากพื้นที่สงครามและการประหัตประหาร รวมถึงมีลูกเด็กเล็กแดงติดสอยห้อยตามมา ผิดแผกไปจากคนมุ่งหมายมาใช้แรงงานตามปกติ ดังนี้ คนคนหนึ่งอาจเป็นทั้งผู้ลี้ภัยสงคราม ผู้ลี้ภัยการเมือง และผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจ หรือแรงงานข้ามชาติก็เป็นได้ 

ด้วยสภาพการณ์ที่ไร้ความคุ้มครองที่เหมาะสม สถานภาพคนจึงเลื่อนไหล มนุษย์ต่างเคลื่อนย้ายตนเองเพื่อหาที่ที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีเสมอ

อย่างไรก็ดี การรับมือของไทยตรงนี้กลับคือการรับมือที่ไม่ได้พลิกผันไปตามความลื่นไหลของมนุษย์ และตามสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งพม่ากำลังก้าวถอยหลัง มันคือนโยบายเดิมที่คงอยู่มาราวสิบกว่าปีเมื่อการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยแบบรายวันเริ่มสร่างซา กล่าวคือ นโยบายที่ว่าไม่มีนโยบาย ไม่มีนโยบายผู้ลี้ภัย เพราะไม่มีผู้ลี้ภัย 

ไทยมีแต่มาตราการจัดการกับคนที่หนีระเบิดกับปืนที่ต้องเกิดขึ้นติด ๆ ชายแดนเท่านั้นจึงจะให้ข้ามเส้นพรมแดนเข้ามาได้ เมื่อมาแล้วต้องอยู่ในความควบคุมของทหารไทย หลบอยู่ให้นอกสายตาของภาคประชาชน สื่อมวลชน องค์กรระหว่างประเทศ แล้วก็ทำอย่างไรก็ได้ให้กลับออกไปโดยเร็วที่สุด ส่วนผู้ที่หนีการปราบปรามเพราะทำกิจกรรมทางการเมือง หรือหนีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ เช่น การบังคับเกณฑ์ลูกหาบและทหาร หรือความอดอยากจากการต้องพลัดถิ่นอย่างยืดเยื้อ หรือหนีสงครามจากพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชายแดนไทย-พม่า ก็จะถูกปฏิบัติในฐานะเป็นคนเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาตเหมือนกันหมด เมื่อถูกจับก็จะถูกเรียกเหมือนกันหมดว่าเป็น “แรงงาน” หรือ “ต่างด้าว” 

สถานการณ์ดังกล่าวนี้ต่างจากช่วงสามสิบปีก่อนอยู่พอสมควร เพราะสมัยก่อนนั้น แม้รัฐไทยจะไม่ยอมเรียกใครว่า “ผู้ลี้ภัย” เราก็มีค่ายพักให้คนหนีสงครามได้เข้าไปอยู่และรับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และแม้จะมีการประกาศว่า UNHCR ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ใด ๆ กับผู้ลี้ภัยเนื่องจากเราไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย 1951 เราก็ยังปล่อยให้ UNHCR ดำเนินกระบวนการพิจารณาสถานะและให้ความคุ้มครอง “บุคคลในความห่วงใย” (Person of Concern) กระทั่งมีศูนย์มณีลอยสำหรับผู้ลี้ภัยนักศึกษาพม่าก่อนจะไปประเทศที่สามเสียด้วยซ้ำ 

ขณะนี้ เราไม่มีการจัดการอะไรเช่นนั้น

(ยังมีต่อ ตอนสุดท้าย)

7 ตุลาคม 2565 
เสวนา “พม่าที่พลิกผัน” ร่วมจัดโดยคณะนิติศาสตร์ ม.ช., RCSD, SEM, KPSN และเพื่อนไร้พรมแดน
ภาพประกอบ โดย KPSN

Related