ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย

ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย

| | Share

ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย
แถลงการณ์ข้อเสนอจากภาคีองค์กรภาคประชาชน 62 องค์กร/เครือข่าย และบุคคล 308 คน
5 เมษายน 2564
(อัพเดทรายชื่อล่าสุด 08.15 น. 6/04/64)

นับแต่การโจมตีทางอากาศของกองทัพพม่าต่อชุมชน จ.มื่อตรอ รัฐกะเหรี่ยง เมื่อ 27 มี.ค. 2564 ตามต่อด้วยการโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่ทั่วพื้นที่ตลอดสัปดาห์ ผู้ลี้ภัยสงครามได้ทะยอยข้ามน้ำสาละวินมาหลบภัยในต.แม่สามแลบ อ.สบเมยและ ต.แม่คง อ. แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอนมากกว่าสามพันคน ซึ่งกว่าสองพันถูกผลักดันกลับไปในระหว่างวันที่ 29-31 มี.ค. และอีกกว่าพันคนยังกระจายตัวอยู่ในความควบคุมของหน่วยทหารพรานท้องถิ่นในอ.แม่สะเรียง

จากการแถลงข่าวของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องชี้ว่า รัฐไทยเกรงว่าการรับผู้ลี้ภัยจะก่อให้เกิดปัญหาการแพร่กระจายโควิด 19 และปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศพม่า อีกทั้งยังเกรงว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้จะตกค้างอยู่นานดังเช่นคนในศูนย์พักพิงฯ 9แห่ง จึงต้องการให้ผู้ลี้ภัยใหม่อยู่เฉพาะภายใต้การควบคุมของกองทัพเพื่อที่จะผลักดันออกไปให้เร็วที่สุด โดยมิให้สื่อมวลชน องค์กรมนุษยธรรม องค์การระหว่างประเทศ ประชาชนไทยรวมถึงหน่วยงานรัฐอื่นได้เข้าถึง

จากการติดตามสถานการณ์และปฏิบัติการครั้งนี้ ภาคีองค์กรภาคประชาชนไทย ซึ่งถือว่าผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย มีข้อสังเกต คือ

1. การผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ ในขณะที่ยังมีรายงานการโจมตีทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนในพื้นที่จังหวัดเดียวกันกับที่ผู้ลี้ภัยกลับไป ถือเป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมและพันธกรณีของรัฐต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมถึงกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศ Non- refoulement ซึ่งห้ามผลักดันผู้ลี้ภัยกลับสู่อันตราย

2. การรับผู้ลี้ภัยไว้บนแผ่นดินไทย โดยที่กองทัพไม่เปิดให้ให้หน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ลี้ภัย ซึ่งคือหน่วยงานมหาดไทยระดับอำเภอและจังหวัด และองค์กรเอกชนด้านมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับมหาดไทยอยู่แล้วเข้ามารับผิดชอบในการจัดการดูแล ทำให้ภาระตกอยู่แก่หน่วยทหารพรานท้องถิ่น ซึ่งไม่มีความพร้อมทั้งกำลังคน งบประมาณ ประสบการณ์ และศักยภาพในการจัดการดูแลผู้ลี้ภัยได้อย่างเป็นระบบ ตามมาตรฐานสากลในด้านมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน

3. การปิดกั้นไม่ให้ความช่วยเหลือจากภาคประชาสังคมไทยเข้าถึงผู้ลี้ภัย โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและโควิด 19 ก่อให้เกิดวิกฤตทางมนุษยธรรม ผู้ลี้ภัยที่ประกอบไปด้วยหญิง เด็ก คนชรา และผู้ป่วย ต้องตกอยู่ในสภาพอดอยาก ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันตนและทรัพย์สินจากแดดและฝน ขาดยารักษาโรคและเครื่องใช้จำเป็นอื่น ๆ

4. สภาพความไม่พร้อมดังกล่าวก่อให้เกิดความห่วงใยสืบเนื่องถึงอนาคตอันใกล้ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในประเทศพม่า ก็อาจมีการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัยเข้ามาเพิ่มตลอดแนวชายแดนไทย เนื่องจากการปราบปรามประชาชนในเขตเมืองยังทวีความรุนแรงไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้นักการเมือง นักกิจกรรม สื่อมวลชน ข้าราชการและครอบครัวต้องหลบหนีการประหัตประหารมาอยู่ในความคุ้มครองของกลุ่มชาติพันธุ์บริเวณชายแดนติดไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีความเป็นไปได้ที่กองทัพพม่าจะหันมาโจมตีพื้นที่เหล่านี้ ส่งผลให้ทั้งชาวบ้านท้องถิ่นและผู้ที่หลบหนีจากเขตเมือง ต้องข้ามมาขอหลบภัยในประเทศไทย

นอกจากนี้ องค์กรภาคประชาชนไทยที่ได้ติดตามสถานการณ์ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ยังมีข้อชี้แจงต่อข้อกังวลต่าง ๆ ของรัฐไทย คือ

1. ต่อกรณีความห่วงใยว่าผู้ลี้ภัยจะตกค้างนาน ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้ลี้ภัยปี 2564 โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านชาติพันธุ์จากชายแดนเหล่านี้ไม่มีความประสงค์จะอยู่ประเทศไทยในระยะยาว หากต้องการกลับถิ่นฐานทันทีที่สามารถกลับได้ แต่ละครอบครัวทิ้งบ้าน ทรัพย์สิน เรือกสวนไร่นา และสัตว์เลี้ยงของตนไว้ โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาก่อนจะมีการโจมตีทางอากาศที่ไปได้ทั่วทุกบริเวณ ชาวบ้านได้พยายามใช้ชีวิตอยู่ในชุมชน โดยหนีไปหลบซ่อนในป่าเมื่อเกิดความรุนแรงขึ้น ไม่ได้มีความพยายามมาประเทศไทยหากไม่จำเป็น

ตัวอย่างหนึ่งของผู้ลี้ภัยที่ไม่มีประสงค์จะอยู่ประเทศไทยในระยะยาว คือ ผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงจากจ.พะอัน รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งหลบหนีการโจมตีเพื่อยึดพื้นที่ของกองทัพพม่าเข้ามาอยู่ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระหว่างมิ.ย.2552-เม.ย.2553 ในครั้งนั้น รัฐได้จัดพื้นที่ให้แยกจากศูนย์พักพิงฯที่มีอยู่ โดยอนุญาตให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปจัดการและภาคประชาสังคมไทยสามารถไปให้ความช่วยเหลือได้ ผู้ลี้ภัยได้สร้างเพิงพักชั่วคราวกันแดดฝน และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนชั่วคราวเพื่อให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ จนกระทั่งเดินทางกลับถิ่นฐาน

กรณีผู้ลี้ภัยราวเก้าหมื่นในศูนย์พักพิงฯ 9 แห่งใน 4 จังหวัดนั้นมีความแตกต่างไปมาก หลังจากเกิดศูนย์พักพิงฯแห่งแรกในปี 2527 จำนวนได้ทวีคูณถึงแสนฉับพลันในปี 2538 เนื่องจากกองทัพพม่าสามารถยึดพื้นที่ตลอดชายแดนได้เกือบหมด การกลับถิ่นฐานจึงเป็นเรื่องเป็นไปได้ยาก แม้เมื่อเวลาผ่านไปสถานการณ์จะดีขึ้น พื้นที่ชุมชนรวมถึงที่ทำกินเดิมก็ตกเป็นของผู้มาอาศัยอยู่ใหม่แล้ว อย่างไรก็ดี ผู้ลี้ภัยจากศูนย์พักพิงฯก็ได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สามแล้วกว่าแสนคน ตามข้อมูลองค์การการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ (IOM) ในปี 2564

2. ต่อกรณีข้อห่วงใยว่าด้วยการแพร่กระจายโควิด 19 และความสัมพันธ์กับประเทศพม่านั้น เราเชื่อว่า รัฐไทยสามารถคลี่คลายปัญหาได้ด้วยการจัดการตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม ซึ่งถือว่าผู้ลี้ภัยจะต้องได้รับความคุ้มครองระหว่างประเทศ มิใช่เป็นความรับผิดชอบของรัฐที่รับแต่เพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้ ด้วยการจัดการที่เหมาะสมตามข้อเสนอเบื้องล่างนี้ก็จะสามารถควบคุมการแพร่กระจายโควิด 19 ได้ โดยที่รัฐไม่จำเป็นต้องละเมิดหลักมนุษยธรรมหรือสิทธิมนุษยชนใด ๆ

ด้วยเหตุที่ผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่าคือเพื่อนบ้านของประชาชนไทย ภาคีองค์กรภาคประชาชนไทยตามรายนามเบื้องล่างนี้ จึงมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทยในการรับมือกับการหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย กล่าวคือ

1. รัฐจะต้องไม่ปฏิเสธการขอเข้าลี้ภัย โดยหน่วยงานความมั่นคงจะต้องเปิดให้ผู้หนีภัยสงครามและการประหัตประหารซึ่งมีเหตุแห่งการลี้ภัยชัดเจนตามรายงานข่าว ให้เข้าพักหลบภัยในประเทศไทยตามหลักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวที่รัฐได้จัดไว้ให้ตามที่ได้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนไว้ก่อนหน้า

2. เมื่อหน่วยงานความมั่นคงเปิดรับให้ผู้ลี้ภัยเข้าสู่พื้นที่พักพิงฯแล้ว ก็จะต้องมอบความรับผิดชอบในการจัดการดูแลให้ความคุ้มครองแก่กระทรวงมหาดไทยระดับอำเภอ และจังหวัด ซึ่งจะได้ประสานกับหน่วยงานสาธารณสุขท้องถิ่นให้มีบทบาทนำในด้านงานควบคุมโรค และองค์กรมนุษยธรรมซึ่งมีประสบการณ์และความพร้อมในด้านงบประมาณให้ดำเนินการสนับสนุน

3. รัฐจะต้องไม่ปิดกั้น หากควรอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคประชาชนไทยที่ประสงค์จะช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านหรือเครือญาติของตน ทั้งนี้ การสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองประเทศ คือการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศในระยะยาว

4. ในกรณีที่มีการหลั่งไหลเข้ามาของกลุ่มผู้ลี้ภัยจากพื้นที่ที่เชื่อได้ว่า จะมีผู้หลบหนีการประหัตประหารจากในเมืองรวมอยู่ด้วย รัฐควรอนุญาตให้สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) สามารถเข้าถึงผู้ลี้ภัยกลุ่มดังกล่าว และสามารถใช้กลไกคณะกรรมการพิจารณาคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครอง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 เพื่อคัดกรองผู้ที่ต้องการความคุ้มครองเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบุคคลเหล่านี้อาจยังไม่สามารถกลับคืนถิ่นฐานพร้อมกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนชายแดนได้

5. การตัดสินใจที่จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ลี้ภัยกลุ่มใดหรือบุคคลใดกลับคืนถิ่นฐาน จะต้องเป็นบทบาทร่วมของหน่วยงานที่ให้ความคุ้มครองดูแลผู้ลี้ภัย มิใช่บทบาทของฝ่ายความมั่นคงแต่เพียงฝ่ายเดียว

ด้วยความศรัทธาในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์

** ผู้ที่ประสงค์จะร่วมแถลงการณ์ กรุณาลงชื่อ-นามสกุลจริงหรือหน่วยงานของท่านได้ในคอมเมนต์ใต้โพสต์นี้ เราจะรวบรวมรายชื่อเพิ่มเติมอีกครั้งภายใน 18.00 น.

Related