บ้านของเพื่อนเราลุกเป็นไฟ

บ้านของเพื่อนเราลุกเป็นไฟ

| | Share

บ้านของเพื่อนเราลุกเป็นไฟ

ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา การปะทะกันอย่างหนักหน่วงระหว่างกองทัพพม่ากับกลุ่มประชาชนติดอาวุธ KPDF (Karenni People’s Defence Force) ซึ่งเป็นสมาชิกขบวนการ CDM ต่อต้านรัฐประหาร ยังดำเนินอยู่ในอำเภอลอยก่อ เดมอโซ บอลาเก และปาซอง รัฐกะเรนนี 

ทหารพม่าระดมกำลังมาเพิ่ม ใช้ทั้งอาวุธเล็ก-ใหญ่ ยิงปืนใหญ่เข้าชุมชน และใช้เฮลิคอปเตอร์สอดแนมบินทั่วบริเวณ  ขณะที่ประชาชนโค่นต้นไม้ขวางรถทหาร และตอบโต้ด้วยอาวุธปืน ระเบิดมือ บุกเข้ายึดสถานีตำรวจและเผาสถานที่ราชการ 

ปฏิบัติการของประชาชนที่ได้รับการฝึกอาวุธจากกองกำลังชาติพันธุ์ คือการตอบโต้ที่กองทัพพม่าเข้าคุกคาม จับกุม ทรมาน และกราดยิงเข้าชุมชนเพื่อกำจัดหรือข่มขู่มิให้ประชาชนเข้าร่วมกับขบวนการ CDM และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตสะสมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเยาวชนและเด็ก

คืนวันที่ 23 พ.ค.ต่อถึงเช้าตรู่ กองทัพพม่าตัดไฟฟ้าทั่วรัฐ และยิงปืนใหญ่เข้าใส่โบสถ์คาธอลิกของชาวกะยังในลอยก่อ เมืองหลวงของรัฐกะเรนนี ส่งผลให้ชาวบ้านที่หนีการสู้รบเข้าไปหลบภัยในโบสถ์เสียชีวิต 4 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 1 คน และบาดเจ็บอีก 8 คนเป็นอย่างน้อย 

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ชาวกะเรนนี ซึ่งมีทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะยา กะยอ กะยัง ปะกู ปะโอ เกบา ตาละยา ฯลฯ หลบหนีการคุกคามประหัตประหารของกองทัพพม่าเข้าพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่อง  ล่าสุด การหลบหนีมาถึงค่ายพักผู้พลัดถิ่นใกล้ชายแดนไทยไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากหน่วยลาดตระเวนพม่าดักอยู่ทั้งทางรถทางป่า จึงมีการจัดตั้งค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ “ปีกีก้อคู” บนพรมแดนรัฐกะเรนนี-ฉานสำหรับผู้ที่ต้องการพื้นที่ปลอดภัย หากกองทัพพม่าก็ยังระดมยิงปืนใหญ่อยู่รายรอบค่ายผู้พลัดถิ่นดังกล่าว

รัฐกะเรนนี (Karenni) ซึ่งทางการพม่าเรียกว่ารัฐกะยา (Kayah) เป็นพื้นที่เล็ก ๆ ขนาดเท่าจังหวัด ตั้งอยู่ตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยง  ประชาชนกะเรนนีเผชิญกับสงครามและการประหัตประหารมายาวนานหลายทศวรรษเช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยง  ตามพงศาวดารโยนก ในปีพ.ศ. 2326 มีการเจริญสัมพันธไมตรีด้วยการแต่งงานระหว่างเจ้าฟ้าเมืองเชียงใหม่และเจ้าฟ้าหญิงกะเรนนี (ยางแดง) 2 คู่ พร้อมพิธีกรรมปฏิญาณน้ำมิตร อันที่เป็นมาของคำกล่าวขานที่เป็นที่จดจำ “ตราบใดน้ำคง (สาละวิน) ไม่หาย เขาควายป่าไม่ซื่อ (ไม่ตรง) ถ้ำช้างเผือกไม่ยุบ เมืองยางแดงและเมืองเชียงใหม่จะยังคงไมตรีกันตราบนั้น” 

ล่าสุด กลุ่มประชาสังคมกะเรนนีคาดประมาณตัวเลขผู้พลัดถิ่นในประเทศล่าสุดไว้ที่ 20,000 คน  ขณะที่ในไทยมีค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนีอยู่ 2 แห่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมประชากรล่าสุด 19,189 คน (TBC, April 2021) 

ณ เวลานี้ ยังคาดการณ์ได้ยากว่า ประชาชนกะเรนนีจะมีความจำเป็นต้องขอมาลี้ภัยในประเทศไทยต่อไปหรือไม่   หากบทเรียนที่ได้จากวิกฤตมนุษยธรรมที่เกิดขึ้นแก่ผู้ลี้ภัย-ผุ้พลัดถิ่นชาวกะเหรี่ยงจากมื่อตรอที่สำคัญยิ่งก็คือ รัฐไทยจะต้อง “ยอมรับความจริง” ว่ามีผู้ที่ต้องการหนีเอาชีวิตรอดเข้ามาขอพักพิงในประเทศไทย  ดำเนินนโยบายผู้ลี้ภัยในระดับชาติที่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่ฟังเสียงของผู้มีศักยภาพและประสบการณ์ รวมถึงชุมชนท้องถิ่นและชุมชนผู้พลัดถิ่น แทนที่จะปล่อยให้ทุกอย่างถูกจัดการด้วยสายตาที่ตีความ “ความมั่นคง” ไว้อย่างคับแคบ

ภาพประกอบ

-ภาพความสูญเสียที่โบสถ์คาธอลิกกะยัง ลอยก่อ และความสูญเสียจากปืนใหญ่ที่เดมอโซ โดย Kantarawadee Times

-ภาพผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเรนนี โดย Player Reh

Related