บันทึกครูกะเรนนี

บันทึกครูกะเรนนี

| | Share

บันทึกครูกะเรนนี

“คนกะเรนนีต้องเป็นผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเรนนีหรือเป็นผู้ลี้ภัยในไทยมาตั้งแต่ก่อนพวกเราเกิด พ่อแม่ปู่ย่าเราต้องอยู่กันโดยไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองของประเทศไหนมานานแล้ว”  เด็ก ๆ บอกกับฉัน เมื่อฉันถามว่าคิดอย่างไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน  

“เราเกิดและโตมาก็เป็นแบบนี้ แต่พอได้เห็นคนกะเรนนีต้องหนีตายหรือถูกฆ่าเป็นผักเป็นปลาเข้าจริง ๆ มันก็ทำให้เรา เจ็บ มาก ๆ” 

หนุ่มสาววัยมัธยมต้นถึงปลายหนีมาถึงชายแดนรัฐกะเรนนีติดประเทศไทย  พวกเขามาถึงด้วยสภาพสะบักสะบอม ป่วยไข้จากการขาดอาหารขาดน้ำ  บางคนก็เป็นมาลาเรีย

“พ่อ แม่ พี่น้องของเราหนีมาหลบอยู่ในป่าตั้งแต่หลังรัฐประหารได้ไม่นาน เราจำเป็นต้องแยกจากพวกเขา และหนีมาที่นี่กันตามลำพัง เพราะอยู่ไปก็มีแต่จะทำให้พวกเขาเป็นอันตรายมากขึ้น”  เด็ก ๆ อธิบาย และเมื่อถามว่าพวกเขากลัวบ้างไหม ต่างก็ตอบว่า สิ่งที่กลัวที่สุดในวันนี้ก็คือ 

“กลัวว่าจะเกิดอะไรไม่ดีกับครอบครัวของเรา”  พวกเขาคิดและภาวนาให้ครอบครัวปลอดภัยอยู่ทุกวัน

ในวันฝนตกหนัก เด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวบางคนนั่งเหม่อลอย  ในวัยไม่ถึง 15 ปี การต้องอยู่ห่างจากครอบครัวโดยไม่รู้ชะตากรรมกันเลยคงเป็นเรื่องทรมานใจมาก  พวกเขามาอยู่ในบ้านพักนักเรียนรวมกัน เฝ้ามองเด็กที่ได้อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว  เด็กบางคนพอจะมีญาติพี่น้องในค่ายผู้ลี้ภัยที่ส่งของใช้มาช่วยเหลือกัน  และเด็กที่ไม่มีใครเลยก็คงได้แต่แอบน้อยใจ

เด็กกะเรนนีไม่ได้ไปโรงเรียนมาร่วมสองปีแล้ว นับตั้งแต่ที่รัฐบาลพม่าประกาศปิดโรงเรียนเมื่อปีก่อนจากโควิด 19 พอเกิดรัฐประหารและการต่อต้าน ตามมาด้วยการระบาดรุนแรงล่าสุด การเรียนหนังสือก็เป็นไปไม่ได้เลย

“ในสมองเราไม่คิดเรื่องเรียนแล้ว คิดแต่การอยู่รอดไปวัน ๆ เราหนีมาโดยไม่รู้ว่ามีอะไรคอยอยู่ข้างหน้า วัน ๆ ก็หนีจากที่หนึ่ง ไปอีกที่หนึ่ง และอีกที่หนึ่ง”  พวกเขาเล่า กองทัพพม่าตัดสัญญาณโทรศัพท์เพื่อไม่ให้ประชาชนติดตามข่าวสารหรือติดต่อกันได้ พวกเขาจึงแปลกใจมากเมื่อมาถึง

“พอได้ยินว่าที่นี่กำลังจะเปิดโรงเรียน เราก็ดีใจมาก ๆ  ถึงวันนี้โรงเรียนเราจะไม่มีอาคารเรียน ไม่มีอุปกรณ์ ไม่มีแม้แต่เครื่องเขียนเลยก็ตาม  เราก็ดีใจที่จะได้เรียน พ่อแม่ของพวกเราก็คงภูมิใจถ้าได้รู้ว่าลูกจะได้เรียนหนังสือ นี่คือสิ่งที่ทำไม่ได้ถ้ายังอยู่ในการควบคุมของกองทัพพม่า” 

เด็ก ๆ บอกว่าวิชาที่สำคัญสำหรับพวกเขาคือ ภาษาอังกฤษ ภาษา-ประวัติศาสตร์กะเรนนี และคอมพิวเตอร์

“ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของโลก ถ้าภาษาอังกฤษเราดี เราจะสามารถติดต่อสื่อสารกับโลกได้ อักษรกะเรนนีหรือกะยาห์เป็นของชนชาติเรา ประวัติศาสตร์กะเรนนีก็คือเรื่องของพวกเรา สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีสอนในโรงเรียนพม่า แต่เราควรจะได้เรียนรู้เพื่อที่จะได้รู้จักตัวเอง และสามารถถ่ายทอดให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ ส่วนคอมพิวเตอร์นั้น มันคือเทคโนโลยีของโลกปัจจุบัน  ยุคนี้คือยุคของเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร เราต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในโลก เราต้องสามารถตามโลกทัน และสื่อสารกับโลกได้”

ในค่ายพักหลบภัยติดชายแดน เด็กหญิงชายวัยรุ่นยังไม่คิดจะกลับบ้าน เพราะพวกเขายังมองไม่เห็นอนาคตที่นั่น บางคนที่บอกว่า ถ้าเรียนจบ เขาจะกลับไปเป็นทหารกะเรนนีเพื่อขับไล่กองทัพพม่าให้ออกไปพ้นจากดินแดน ส่วนไม่มากนักบอกว่าอยากไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศเหมือนกับอดีตผู้ลี้ภัยรุ่นก่อน ๆ ที่เคยได้ไปตั้งถิ่นฐานใหม่  แต่อีกมากก็บอกว่า หากประเทศไทยอนุญาต  พวกเขาจะขอเข้ามาอยู่ในประเทศไทย 

ที่ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าจะปลอดภัย

19 ส.ค. 2564

Related