บันทึกของนักสู้ในวันหลบภัย (ตอนที่ 1)

บันทึกของนักสู้ในวันหลบภัย (ตอนที่ 1)

| | Share

บันทึกของนักสู้ในวันหลบภัย (ตอนที่ 1)

พ่อของนักเรียนคนหนึ่งบอกไว้ว่า ถ้าหากพอจะมีความปลอดภัยอยู่บ้าง เขาก็อยากให้ลูกได้เรียนหนังสือ และเรียนให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้

“มันสำคัญต่ออนาคตของพวกเขา แม้เราไม่มีแผนการสำหรับอนาคต เพราะเราไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ในแต่ละวันได้เลยว่าจะเป็นอย่างไร” 

ท่ามกลางความรุนแรงและการสู้รบ เราพยายามจัดการเรียนการสอนให้กับเด็ก ๆ ในพื้นที่สงครามของรัฐกะเรนนีให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แน่นอนว่าการศึกษามักต้องสะดุดหยุดชะงักเพราะการโจมตีรูปแบบต่าง ๆ แล้วทั้งนักเรียน ครู ชาวบ้านก็ต้องหนี 

เราหนีจากหมู่บ้านของเราไปยังค่ายพักคนพลัดถิ่น (IDPs) ในป่า บางครั้งเมื่อการสู้รบสงบลงเราก็กลับไปหมู่บ้านและเด็ก ๆ ก็ได้เรียนหนังสือในโรงเรียนเดิมต่อ เมื่อมีการโจมตีอีกก็หนีอีก และก็กลับมาอีก แต่ในบางแห่งพวกเราก็ต้องหนีจากค่าย IDPs หนึ่งไปตั้งค่ายใหม่อีกแห่งหนึ่ง และอีกแห่งหนึ่ง เป็นอยู่แบบนี้เพราะหาที่ปลอดภัยไม่ได้  ตอนนี้คน 222,000 คนคือมากกว่าครึ่งของรัฐกะเรนนีกลายเป็น IDPs กันหมดแล้ว 

สภาพสงครามในพม่าทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่การสู้รบระหว่างคนกับคน แต่กองทัพพม่าใช้วิธีระดมยิงปืนใหญ่ไปทุกทิศทุกทางไม่รู้จบ  พวกเขายิงเข้ามาแม้แต่ในชุมชน โบสถ์ วัด และค่ายพัก IDPs ทั้ง ๆ ที่คนที่อยู่ในค่ายส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ผู้หญิง คนแก่ คนพิการ และคนที่สุขภาพไม่ค่อยดี  ส่วนผู้ชายหนุ่มจนถึงวัยกลางคนที่แข็งแรงนั้นจะต้องไปเป็นกองกำลังปกป้องตัวเอง คอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับชุมชนและครอบครัวของพวกเขาอยู่รอบนอก แม้แต่ครูผู้ชายของเราก็ไปจับอาวุธปกป้องชุมชน 

พื้นที่รัฐกะเรนนีตอนนี้ส่วนใหญ่ถูกตัดขาดสัญญาณโทรศัพท์และไฟฟ้าหมด การรับรู้ข้อมูลข่าวสารให้ทันต่อเหตุการณ์เป็นไปได้ลำบากมาก  ครูแต่ละคนพยายามชาร์จแบตโทรศัพท์กับโซลาร์เซลล์ แต่แผงโซลาร์เซลล์และแบตเตอรี่สำรองของบางแห่งก็เก่าเกินไป หรือเก็บไฟไม่ค่อยได้แล้ว  นอกจากนี้พอแบ็ตเตอรี่โทรศัพท์เต็ม หากจะติดต่อกับใครพวกเขาก็ต้องเสี่ยงเดินเท้าขึ้นยอดเนินเพื่อไปรับสัญญาณอินเตอร์เน็ต การจะบอกเล่าเรื่องราวหรือขอความช่วยเหลือจากใครจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

กองทัพพม่าพยายาม “ตัด” ทั้งอาหาร ยา เชื้อเพลิง การสื่อสาร การศึกษา และการบริการทางสังคมทุกอย่าง  เมื่อก่อนพวกเขาก็ใช้ยุทธวิธี “สี่ตัด” ในการกดดันประชาชน และตอนนี้พวกเขาก็ “ตัด” ทุกอย่างไปมากกว่าเดิม  ชาวบ้านเป็นกังวลต่อเรื่องนี้มากกว่าการสู้รบเสียอีก อาหารที่พอคว้าติดตัวมาได้เวลาหนีมักพอกินไปได้ไม่กี่วัน พอจะกลับไปเอาเสบียงที่บ้านก็เจอกับระเบิด ถูกจับ ทรมาน และฆ่าทิ้งกันบ้าง เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อมาเกินปี ชาวบ้านต้องพึ่งแต่อาหารจากป่าและความช่วยเหลือที่องค์กรประชาสังคมกะเรนนีต่าง ๆ นำมาให้  ซึ่งให้แค่ไหนก็ไม่พอ เพราะคนมีจำนวนมากกว่าความช่วยเหลือ  พวกเขาพยายามเก็บสะสมอาหาร ปลูกข้าว ลงพืชผักไว้ทุกที่ที่พลัดถิ่นไปอยู่ แต่บางครั้งก็ต้องหนีไปจากตรงนั้นก็ที่จะได้เก็บเกี่ยวสิ่งใดมากิน  

(ยังมีต่อ)
ภาพประกอบ : โรงเรียนคนพลัดถิ่นในป่ากะเรนนี โดยชาวบ้านกะเรนนี

Related