บทเรียนจากเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดของปี 2022

บทเรียนจากเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดของปี 2022

| | Share

บทเรียนจากเหตุการณ์การโจมตีทางอากาศที่รุนแรงที่สุดของปี 2022

เหตุการณ์การโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงของกองทัพพม่าในจังหวัดดูปลายานับแต่ราวสิบโมงเช้าถึงบ่ายสามของวันที่ 18 พ.ค.2565 คือการตอบโต้หลังจากที่กองกำลังของ KNU ปฏิบัติการเคลียร์ฐานทัพพม่าที่ตั้งอยู่ติดกับโรงเรียนตอน่อ บ้านเซ่บอโบออกไป 

ฐานทัพดังกล่าวสร้างความหวาดหวั่นให้กับชาวบ้านมานานแล้ว ยิ่งหลังรัฐประหาร การมีทหารพม่ายืนถืออาวุธอยู่ใกล้ ๆ และมีรถขนส่งอาวุธยุโธปกรณ์เข้ามาตลอดเวลานั้นทำให้ชาวบ้านนอนไม่หลับ และเมื่อสถานการณ์การสู้รบกระจายทั่วชายแดนอย่างนี้ โรงเรียนก็ไม่สามารถจะเปิดเทอมให้เด็ก ๆ มาเรียนได้ หากฐานทหารยังตั้งอยู่ตรงนั้น

เป็นเวลาราวห้าชั่วโมงที่เครื่องบินรบ 2 ลำพร้อมเครื่องบินระบุเป้า ปฏิบัติการทิ้งระเบิดลงบริเวณพื้นที่ระหว่างฐานทัพดังกล่าวกับบ้านเบล้อโด้เป็นจำนวนเกินกว่าสิบรอบ (มีสำนักข่าวกะเหรี่ยงรายงานว่า 28 ลูก)​ ชาวบ้านหมื่นฤาชัยที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านเซ่บอโบติดแม่น้ำเมย ส่งคนแก่และเด็กให้ออกมาหลบภัยข้างนอกก่อนเพื่อความปลอดภัย ขณะที่คนเซ่บอโบเองยังคงหลบภัยอยู่ในฝั่งรัฐกะเหรี่ยง 

คนที่ขอข้ามมาหลบภัยที่บ้านมอเกอร์ไทย อ.พบพระ จ.ตากเป็นชาวบ้านแถบเลก่อ ซึ่งเป็นผู้พลัดถิ่นในประเทศจากการสู้รบที่ผ่านมาและต้องพักอาศัยอยู่ริมแม่น้ำเมยเพื่อความปลอดภัยอยู่แล้ว  ทางการไทยได้จัดให้คนร้อยกว่าคนแรกพักอยู่ที่วัด และอบต.วาเลย์ก็ได้เข้ามาจัดการเรื่องอาหารเป็นข้าวกล่องและน้ำ โดยเตรียมรับมือหากมีคนเข้ามาเพิ่มเติมอีก

หากขณะที่คนในท้องที่กำลังช่วยอบต.ประสานหาความช่วยเหลือสำหรับอาหารมื้อเช้า ก็ปรากฏว่า ชาวบ้านผู้ลี้ภัยก็ลุกขึ้นเตรียมจะข้ามน้ำกลับ

“ปรากฏว่าเขาได้รับข่าวว่า ทหารกะเหรี่ยงสามารถเคลียร์ฐานทัพพม่านั้นได้สำเร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เลยรีบกินให้อิ่ม แล้วเก็บข้าวเก็บของกลับ” 

เหตุการณ์การโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงยาวนานที่สุดของปี 2022 จึงคือคำบอกเล่าและพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่สำคัญบางประการ 

ประการแรก โครงสร้างภาคประชาสังคมท้องถิ่นสามารถดูแลรับมือสถานการณ์การอพยพลี้ภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากได้รับการสนับสนุนและให้อำนาจในการตัดสินใจ

ประการที่สอง ผู้ลี้ภัยไม่ได้ประสงค์จะมาอยู่ “เอาสบาย” ในไทยเป็นเวลานาน คำกล่าวที่ว่า “ถ้ากลับได้ เราจะกลับก่อนที่คุณจะไล่” นั้นเป็นเรื่องจริง ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นจะต้องหวาดกลัวและพยายามกดดันให้กลับก่อนเวลาอันควร

ประการที่สาม การสู้รบเช่นนี้จะยังดำเนินต่อไปอีกในจุดต่าง ๆ ตลอดแนวชายแดนไทย และนโยบายผู้ลี้ภัยที่ “ยอมรับความจริง” และ “ปรับตามสถานการณ์” โดยยึดมั่นในหลักมนุษยธรรมกับสิทธิมนุษยชน สมควรที่จะก้าวเข้ามาทดแทนแผนเผชิญเหตุที่ปฏิบัติตามบ้างไม่ปฏิบัติบ้างแล้วแต่พื้นที่ เนื่องจากเหตุที่จะต้องเผชิญนั้น เกิดขึ้นอยู่ไม่เว้นแต่ละวัน

18 พฤษภาคม 2565

ภาพประกอบ : เครื่องบินรบพม่า ถ่ายจากฝั่งไทย และผู้พลัดถิ่นในประเทศริมเมย ตรงข้ามอ.พบพระ ถ่ายโดยชาวบ้านริมเมย

Related