ตามรอยเท้า(การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ ตอนที่ 3)

ตามรอยเท้า(การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ ตอนที่ 3)

| | Share

ตามรอยเท้า(การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ ตอนที่ 3)
**บันทึกของผู้ลี้ภัยการเมือง เผยแพร่เนื่องในโอกาสครบรอบขวบปีของการโจมตีเมืองเลเก้ก่อ ซึ่งนำมาสู่การอพยพครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2564 ***
(ความเดิมจากตอนที่แล้ว : ..เราหลบอยู่ในป่าแบบนี้ได้สักอาทิตย์หนึ่ง พอกองทัพเผด็จการออกไป เราจึงได้รับอนุญาตให้กลับไปยังโรงเรียน ที่หลบภัยแห่งแรกของเราได้เหมือนเดิม….)  

แต่แล้วไม่นานนัก การระบาดของโควิด 19 รอบที่สามก็มาถึงเมืองเลเก้ก่อ นี่เหมือนกับการเทพวกเราออกจากกระทะร้อน ๆ ลงไปบนกองไฟ โรงเรียนที่เคยเป็นที่ศูนย์อพยพของคนหนีภัยการเมือง กลายไปเป็นศูนย์กักตัวสำหรับผู้ติดโควิด 19 ดังนั้น มันจึงคือค่ายพักของคนหนีภัยทุกชนิด พวกเรารวมกันอยู่ในนั้น 

ผมทำงานเชิงสังคมมาหลายปี และเคยอาสาทำงานกับผู้ติดเชื้อโควิดในช่วงการระบาดระลอกแรกและระลอกที่สองในพม่ามาก่อน ในสถานการณ์แบบนี้ผมจึงได้โอกาสทำงานอาสาอีกครั้งในศูนย์กักตัวโควิด 19 ของเลเก้ก่อ  ช่วงแรก ๆ ทุกอย่างโกลาหลและน่าหดหู่ ชาวบ้านชาติพันธุ์ ประชาชนกะเหรี่ยงที่ต้องต่อสู้กับกองทัพเผด็จการ ต้องหลบหนีลี้ภัย เสี่ยงจากการถูกเข่นฆ่า จับขัง ทรมาน ฯลฯ ถึงวันนี้ต้องมาเจอโรคระบาดที่อาจพรากชีวิตมนุษย์เราไปได้อย่างรวดเร็วอีก มันโหดร้ายสาหัสเกินไปจริง ๆ ผมคิดอย่างนั้น เท่านั้นไม่พอ โควิด 19 ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างของกองทัพเผด็จการในการเข้าตรวจต้นและจับกุมผู้คนในเลเก้ก่ออีกด้วย 

ก่อนที่เลเก้ก่อจะแตกสลายเป็นซากเมือง กองทัพเผด็จการได้นำกำลังบุกเข้าเมืองมาตรวจค้น จับกุม แล้วก็เริ่มต่อสู้กับกองกำลังชาวกะเหรี่ยง ทำลายเมืองที่มั่นสุดท้ายในประเทศพม่าของเราจนราบ  หนึ่งวันก่อนการโจมตี พวกทหารเข้ามาค้นหาตัวคนบางคน และจับผู้หนีภัยไปได้ 19 คน ส่วนผม เมีย และลูก ๆ ทั้งสามคนที่เพิ่งตามมาสมทบผมได้ไม่นานนัก ก็เอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิดด้วยการเตลิดหนีเข้าป่าด้านตะวันตกของเมือง

ชาวบ้านเลเก้ก่อ คือชาวกะเหรี่ยงผู้มีประสบการณ์เป็นผู้ลี้ภัยสงครามมายาวนาน พวกเขาสอน และเมื่อถึงเวลาก็ สั่ง ให้เราเก็บเสื้อผ้าหนา ๆ น้ำดื่ม และยาประจำติดไปแค่นั้น นี่ช่วยเราได้มากจริง ๆ เพราะผมเคยหนีแต่การจับกุมของทหาร แต่ผมไม่เคยหนีสงครามในป่า

เขานำทางให้เราเดินขึ้นและลงภูเขา ลูกแล้วลูกเล่า เป็นการเดินอยู่ในความมืดตอนตีสาม แล้วเสียงของสงครามระหว่างกองทัพกะเหรี่ยงกับกองทัพเผด็จการก็เริ่มขึ้นในตอนราวเจ็ดโมงครึ่ง  เสียงของปืนใหญ่ ปืนกล ปืนเล็ก ดังสนั่นภูเขาที่สงบร่มรื่น  เราเดินอย่างเงียบที่สุด ในใจไม่อยากคิดอะไรนอกจากจะต้องไปให้ถึงจุดหมาย แล้วในที่สุด เราก็ถึงค่ายพักชั่วคราวแห่งที่สามในตอน 11 โมงเช้า

ก่อนจะนั่งลง เราต้องถางหญ้าถางพงที่ขึ้นรกออกสักนิด แล้วจึงจะมีที่พักนอน  ด้วยความช่วยเหลือของคนท้องถิ่นที่เตรียมการไว้อย่างดี เราจึงไม่ได้เดือดร้อนมากเท่าที่คิด เราพักอยู่ตรงนั้น ฟังเสียงการสู้รบที่ทวีความรุนแรงขึ้น และเมื่อกองทัพเผด็จการพ่ายแพ้ชาวกะเหรี่ยงในการสู้รบภาคพื้นดิน พวกเขาก็เริ่มใช้เครื่องบินรบทิ้งระเบิดลงมา  

ตอนนั้นราวสี่ทุ่มกว่า วันที่เก้าหลังจากที่การสู้รบเริ่มต้น เครื่องบินรบทหารพม่าทิ้งระเบิดลงบนบริเวณใกล้ ๆ ที่พวกเราหลบภัยอยู่ถึงสองครั้ง โชคดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ

ทันทีที่เราได้ยินเสียงเครื่องบิน ผู้หลบภัยทั้งหมดรวมทั้งครอบครัวผม วิ่งหนีไม่คิดชีวิตลงไปยังหุบเขา ที่ซึ่งเราหวังว่าจะปลอดภัย เราหนีเอาชีวิตรอด  ความตายอยู่ใกล้เพียงฝ่ามือ เราเหงื่อท่วมโซมกายท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บของฤดูหนาว นั่นอาจจะเรียกได้ว่า มันคือเหงื่อที่เย็นยะเยือกจากความหวาดกลัว และความปราถนาที่จะยังมีชีวิตอยู่  

เสียงระเบิดดังสนั่นหวั่นไหว มันเป็นเสียงดังที่สุดที่ผมเคยได้ยิน ทุกอย่างรอบตัวสั่นสะเทือนไปหมด

ผมจะไม่มีวันลืมเสียงของลูกชายผมที่ร้องว่า “พ่อ ช่วยลูกด้วย ลูกหนาวจนเข่าก็สั่นไปหมดแล้ว” 

ผมปลอบเขาว่า “นี่แน่ะลูก ลูกไม่ได้หนาวหรอกนะ พวกเราตัวสั่นกันหมดเพราะความกลัวต่างหาก แต่ไม่ต้องกลัวนะ ลูกมีแม่ มีพี่ มีน้อง และมีพ่ออยู่ด้วยกันที่นี่ ไม่ต้องกลัวนะลูกนะ”

ผมพยายามให้กำลังใจลูก ลูกชายของผมเกือบเป็นหนุ่มแล้ว แต่ในยามนี้เขาคือเด็กน้อยที่ผมต้องปกป้อง ตัวผมเองสูดลมหายใจเข้าปอดลึก ๆ ยืนนิ่งสนิทไม่ไหวติงอยู่ข้างหลังต้นไม้ใหญ่ สิ่งสุดท้ายที่หลงเหลือว่าจะปกป้องผมได้ในยามนี้  

(ยังมีตอนต่อไป)

เรื่องและภาพโดย สะยา ฆา
หมายเหตุ ภาพถ่ายจากเมืองเลเก้ก่อ ก่อนที่เครื่องบินรบพม่าจะทิ้งระเบิดทำลายย่อยยับ

ตอนที่ 1 การต่อสู้ที่พ่ายแพ้ไม่ได้ บันทึกของผู้ลี้ภัย
ตอนที่ 2 ย่ำตามรอยเท้าแห่งความเจ็บปวด
ตอนที่ 3 ตามรอยเท้า
ตอนที่ 4 บนเส้นทางที่คดเคี้ยว

Related