ตลกร้ายว่าด้วยเส้นทางท่องเที่ยวสาย 33

ตลกร้ายว่าด้วยเส้นทางท่องเที่ยวสาย 33

| | Share

ตลกร้ายว่าด้วยเส้นทางท่องเที่ยวสาย 33

หากผู้ที่กำลังพักอยู่ในเต็นท์พลาสติกสีน้ำเงินริมน้ำเมยได้รับรู้ถึงแนวคิดว่าด้วย “แลนด์มาร์คแห่งใหม่” นี้ พวกเขาคงไม่เชื่อหู 

ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เส้นทางเลียบริมน้ำเมยบนชายแดนไทย-พม่า แถบบ้านแม่โกนเกน มหาวัน เกาะมะนาว ฯลฯ ได้ปรากฏในหน้าสื่อในฐานะอนาคตถนนท่องเที่ยว “เชิงการเกษตรและการอนุรักษ์ธรรมชาติ” พร้อมไอเดียร้านกาแฟเก๋ และรีสอร์ทโฮมสเตย์อันสามารถมองข้ามแม่น้ำไปชมภูเขาลำเนาไพรไร่นาฝั่งพม่าได้ 

การวางแผนให้เส้นทางริมเมยเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้นต้องอาศัยจินตนาการขั้นสูง เพื่อให้มองข้ามผ่านเต็นท์สีน้ำเงินที่เรียงรายตามแนวแม่น้ำยาวเหยียดตั้งแต่แม่สอดถึงพบพระ  คนในเต็นท์เหล่านี้หอบลูกจูงหลานหนีปืนใหญ่ลูกระเบิดหวังจะข้ามมาหาความปลอดภัยในฝั่งไทย แต่เมื่อไม่ได้รับอนุญาตหรือถูกผลักดันกลับ จึงตั้งเพิงพักอยู่ใกล้ ๆ หวังว่าความช่วยเหลือจะเดินทางมา และหากอันตรายมาถึงตัวก็คงวิ่งหนีข้ามน้ำไปได้ 

หากมีวันที่สงครามสงบ ในวิถีทางที่ไม่ใช่ว่าคนชาติพันธุ์ถูกควบคุมเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจนไร้ปากเสียง ถนนเส้นนี้คงเหมาะอย่างยิ่งกับการท่องเที่ยวเพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ด้วยเป็นสถานที่อันอุดมไปด้วยเรื่องเล่าและประสบการณ์ว่าด้วยความรุ่งเรืองของด่านผาลูและวาเลย์ในอดีต สงครามผาลู-วาเลย์กับการอพยพพลัดถิ่นฐานหลายยุคสมัย การก่อเกิดเมืองใหม่เลเก้ก่อ (2558) ซึ่งมุ่งให้เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพกับสงครามเลเก้ก่อในเพียง 6 ปีให้หลัง และเส้นทางความขัดแย้ง-ความสัมพันธ์ระหว่างกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ กับกองทัพพม่า และกับกองทัพไทย 

อย่างไรก็ดี ณ ยามนี้ หากโครงการ “ที่นี่แม่สอด” จะไม่ได้รวมถึงการผลักดันเต็นท์สีน้ำเงินให้ถอยหลบทิวทัศน์ไปในแบบเดียวกับที่รัฐบาลทหารพม่าเคยย้ายสลัมออกจากย่างกุ้งเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว เส้นทางสายนี้ก็อาจยังคงเหมาะกับการเรียนรู้ วิเคราะห์ วิพากษ์คำว่า “มนุษยธรรม”  การอพยพลี้ภัย และสายสัมพันธ์ของคนท้องถิ่นสองฝั่งน้ำ 

และเหมาะอย่างยิ่ง กับการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ ซึ่งเคารพและห่วงใย และรู้จักเกื้อกูลกันในหมู่มนุษย์ทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

9 พฤษภาคม 2565

Related