จับคนหนีภัย

จับคนหนีภัย

| | Share

จับคนหนีภัย

“ผู้ลี้ภัย” ที่จะตกอยู่ในอันตรายหากถูกผลักดันกลับประเทศ อาจปะปนอยู่ในกลุ่ม “คนไม่มีบัตร” หรือผู้ที่ถูกจับเพราะไม่มีเอกสารอนุญาตเข้าเมืองและทำงานอย่างถูกกฎหมายได้เสมอ

ในสถานการณ์การเมืองพม่าที่มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั้งในเมืองและพื้นที่ป่าเขาของกลุ่มชาติพันธุ์ คนจำนวนมากจำเป็นต้องหนีตายเข้าสู่ประเทศไทย  กลุ่มคนที่ถูกกวาดจับข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังเช่นที่ปรากฏข่าวในพื้นที่แม่สอดอยู่เนือง ๆ จึงอาจเป็นผู้ลี้ภัยจากการประหัตประหาร ซึ่งอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตหากถูกส่งกลับโดยเฉพาะในช่องทางทางการสู่มือเจ้าหน้าที่รัฐพม่า 

ล่าสุด เพื่อนไร้พรมแดนได้รับแจ้งข่าวสารปฏิบัติการตรวจบัตรและจับกุมในอ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน โดยเน้นในพื้นที่ใกล้เคียงกับค่ายผู้ลี้ภัย อันได้แก่บนถนนจากค่ายผู้ลี้ภัยสู่บ้านในสอย ซึ่งมีนักเรียนจากค่ายฯเดินออกมาเรียนในโรงเรียนมัธยม และในโบสถ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระคริสตธรรม (Karenni Baptist Association) ซึ่งกำลังมีการเรียนการสอนอยู่ 

แน่นอนว่า จากพื้นที่ที่มีการจับกุมนั้น ผู้ที่ถูกจับกุมไป 35 คนก็ย่อมเป็นชาวกะเรนนี จากรัฐกะเรนนี ที่ซึ่งกำลังมีการสู้รบและปฏิบัติการทางทหารของกองทัพพม่าอันพุ่งเป้าไปท่ีพลเรือน 

คนเหล่านี้ล้วนมีอยู่ในความเสี่ยง มีแนวโน้มว่าจะตกอยู่ในอันตรายถึงแก่ชีวิตหากถูกผลักดันกลับถิ่นฐาน ที่สำคัญ คนส่วนหนึ่งที่ถูกจับมีทะเบียนที่อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย และบางรายเป็นนักเรียนอายุต่ำกว่า 18 ปี ซึ่งล่าสุดได้มีการเจรจาปล่อยตัวเยาวชนที่มีทะเบียนในค่ายผู้ลี้ภัยออกมาแล้วส่วนหนึ่ง พวกเขาก็ไม่สมควรจะต้องถูกคุมขังเลยแม้แต่นาทีเดียว

หากการจับกุมเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์การกดดันให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ เพื่อปรามมิให้มีการเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยมากขึ้น หรือเพื่อปราบขบวนการค้ามนุษย์ ปฏิบัติการใกล้ค่ายผู้ลี้ภัยรวมถึงในโบสถ์ที่มีการเรียนการสอนศาสนาก็ไม่น่าจะ “มีประสิทธิภาพ” หรือ “ตรงเป้า” นัก ที่สำคัญก็คือ รัฐไทยจะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้ “มีผู้ลี้ภัยจากพม่าที่ต้องการความคุ้มครองอยู่ทุกหนแห่ง”  ไทยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2562 หากจวบจนปัจจุบัน กลไกดังกล่าวก็ยังเพียงอยู่ในขั้นตอนร่างแนวปฏิบัติ และไม่เคยมีการนำมาใช้เพื่อคัดกรองผู้ที่จำเป็นจะต้องได้รับความคุ้มครอง  

รัฐประหารพม่าและความรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้านดำเนินมาร่วม 9 เดือน เราจะปฏิเสธความจำเป็นของนโยบาย กฎหมาย กลไกการรองรับและจัดการผู้ลี้ภัยที่โปร่งใสและยึดหลักมนุษยธรรมเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ต่อไปอีกนานเท่าไร

ภาพประกอบเหตุการณ์จาก “คนกะเรนนี”

Related