ค้นหาข้อเท็จจริงก่อนปฏิเสธ

ค้นหาข้อเท็จจริงก่อนปฏิเสธ

| | Share

ค้นหาข้อเท็จจริงก่อนปฏิเสธ

การที่สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการส่งกลับผู้ลี้ภัยไปสู่อันตราย ตลอดจนถึงการรีดไถผู้ลี้ภัยที่หลบซ๋อนอยู่ในเมืองแม่สอด เป็นการยืนยันข้อมูลจากคนทำงานชายแดนมากมายหลายกลุ่ม ซึ่งรัฐจะต้องตรวจสอบก่อนปฏิเสธ   

“พวกเราถูกไล่ให้กลับและเรียกให้มา กลับไปกลับมาเหมือนหมูเหมือนหมา” คือถ้อยคำคั่งแค้นของหญิงคนหนึ่งซึ่งเคยกล่าวแก่เพื่อนไร้พรมแดน ซึ่งเสียงของเธอควรเป็นที่ได้ยินและรับฟัง

ทั้งนี้ การหาประโยชน์กับผู้ลี้ภัยรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารแสดงตน เป็นเรื่องที่คนทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ รับรู้กันมาตลอด หากมักลังเลที่จะเปิดเผย เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการนำภัยมาสู่ผู้ลี้ภัยเสียเอง

“ต่างคนต่างเกรงว่า ถ้าพูดออกไปก็ไม่มีอะไรประกันได้ว่า ผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกจับและส่งกลับไปสู่อันตราย เพราะมันยังไม่มีนโยบายและแนวปฏิบัติที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่แอบซ่อนอยู่ในเมือง (urban refugee) อีกอย่างหนึ่งก็คือ การยุติการรีดไถวิธีหนึ่งของคนกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดวิธีใหม่หรือคนกลุ่มใหม่ อันนี้ไม่ว่าจะเป็นพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐจริงหรือปลอมก็แล้วแต่ ตราบใดที่ยังไม่มีกฎหมายยอมรับสถานภาพผู้ลี้ภัย มันก็จะยังเป็นอย่างนี้” คนทำงานผู้ลี้ภัยผู้ไม่ประสงค์จะออกนามกล่าว

“ถ้าให้เลือกระหว่างถูกส่งกลับกับไปยอมเสียเงินทั้งหมดที่มี ฉันก็ยอมเสียเงินดีกว่า” ผู้ลี้ภัยหญิงสาวแม่ลูกอ่อน ผู้ยอมเสียค่าเช่าบ้านของเธอด้วยความหวาดกลัวต่อคนที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐกล่าว เธอเพิ่งเดินออกจากศูนย์กักตัวโควิดและต้องสูญเสียเงินสดทั้งหมดที่มี

ณ วันนี้ สิ่งสำคัญ ที่อาจเร่งด่วนเหนือกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อกล่าวหาจากสื่อ ก็คือ การทบทวนหลักเกณฑ์หรือแนวทางการใช้วิจารณญาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ และนโยบาย กฎหมาย ระเบียบปฏิบัติในการรับผู้ลี้ภัยในเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม หลักสิทธิมนุษยชน เหล่านี้คือหลักของ “ความเป็นมนุษย์” ซึ่งจะช่วยป้องกันการตัดสินใจและการประพฤติมิชอบต่าง ๆ เจอทางตันของมัน

กฎเกณฑ์ใด ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่ค้ำฟ้า และไม่จำเป็นจะต้องได้รับการปกป้องโดยไม่ลืมหูลืมตา  การได้ยินเสียงของประชาชน คือหนึ่งในการนำพาสังคมและประเทศให้อยู่รอด 

และในฐานะประชาชน เราล้วนมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายและแนวปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของเรา  ความคิดเห็นของประชาชนผู้เป็นสมาชิกของสังคมและเจ้าของประเทศควรได้รับการรับฟัง ความเห็นของผู้ประสบปัญหา ชาวบ้านชายแดน และประชาชนที่มีประสบการณ์กับงานผู้ลี้ภัยและชายแดนควรได้รับความเคารพ แทนที่จะถูกบอกปัดด้วยคำเดียวว่า

“ให้คนที่เขามีหน้าที่ทำงานของเขาไป” 

8 เมษายน 2565
ภาพประกอบ ณ มุมหนึ่งจากชายแดน โดย ชาวบ้านริมเมย
ลิงค์ข่าวจากสำนักข่าว AP https://apnews.com/…/only-on-ap-united-nations…

Related